“กรุ๊ปเลือด” เป็นปัจจัยสำคัญในการถ่ายเลือดอย่างปลอดภัย เพราะไม่ใช่ทุกกรุ๊ปเลือดที่จะสามารถให้หรือรับกันได้อย่างอิสระ แล้วกรุ๊ปเลือดไหนรับหรือให้กันได้บ้าง ?
ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเลือดประมาณร้อยละ 9–10 ของน้ำหนักตัว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการลำเลียงออกซิเจน สารอาหาร และขับของเสียออกจากเซลล์ของร่างกาย โดยแต่ละคนจะมีหมู่โลหิต หรือกรุ๊ปเลือด ที่แตกต่างกันตามพันธุกรรม โดยการแยกโลหิตของคนเราออกเป็นหมู่/เป็นกรุ๊ป (Group หรือ Type) ตามชนิดของสารชีวเคมี (Biochemicalsubstance) ที่มีชื่อว่า ไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) หรือไกลโคไลปิด(Glycolipid) ที่ร่างกายสร้างขึ้นและปรากฏบนผิวเม็ดโลหิตแดงและเรียกว่าแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ซึ่งมีลักษณะจำเพาะในแต่ละหมู่ โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
1. หมู่โลหิตระบบ ABO
ระบบหมู่โลหิต ABO ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1900 โดย Karl Landsteiner ซึ่งสามารถจำแนกหมู่โลหิตออกเป็น A, B และ O ต่อมาในปี ค.ศ. 1902 Von Decastello และ Sturli ได้ค้นพบหมู่โลหิต AB เพิ่มเติม
หมู่โลหิตระบบนี้จำแนกตามชนิดของแอนติเจนที่อยู่บนผิวของเม็ดโลหิตแดง และแอนติบอดีที่พบในพลาสมา โดยหลักการแล้ว ร่างกายจะไม่สร้างแอนติบอดีต่อแอนติเจนที่มีอยู่บนเซลล์ของตนเอง หมู่โลหิตแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะ ดังนี้
หมู่ A มีแอนติเจน A บนเม็ดโลหิตแดง และมีแอนติบอดี B ในพลาสมา
หมู่ B มีแอนติเจน B บนเม็ดโลหิตแดง และมีแอนติบอดี A ในพลาสมา
หมู่ O ไม่มีแอนติเจน A หรือ B บนเม็ดโลหิตแดง แต่มีทั้งแอนติบอดี A และ B ในพลาสมา
หมู่ AB มีทั้งแอนติเจน A และ B บนเม็ดโลหิตแดง แต่ไม่มีแอนติบอดี A หรือ B ในพลาสมา
การตรวจหมู่โลหิตจึงอาศัยการตรวจหาแอนติเจนและแอนติบอดีเพื่อระบุความเข้ากันได้ในการถ่ายโลหิต
2. หมู่โลหิตระบบอาร์เอช (Rh)
ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1939 โดย Levine และ Stetson ซึ่งประกอบด้วยแอนติเจนที่มีความสำคัญทางคลินิก 5 ชนิด ได้แก่ D, C, E, c และ e โดยแอนติเจนที่สำคัญที่สุดคือแอนติเจน D ซึ่งใช้ในการระบุว่าเป็นหมู่โลหิต Rh บวกหรือลบ ดังนี้
Rh บวก (Rh⁺) มีแอนติเจน D บนเม็ดโลหิตแดง พบในคนไทยประมาณ 99.7%
Rh ลบ (Rh⁻) ไม่มีแอนติเจน D บนเม็ดโลหิตแดง พบในคนไทยเพียง 0.3% หรือ 1,000 คนจะพบเพียง 3 คนเท่านั้น ถือเป็นหมู่โลหิตหายาก
แม้โดยปกติร่างกายมนุษย์จะไม่สร้างแอนติบอดีต่อแอนติเจน D แต่ในกรณีที่ผู้มี Rh ลบได้รับเลือด Rh บวก หรือหญิงตั้งครรภ์ Rh ลบที่มีทารก Rh บวก แอนติบอดี Anti-D อาจถูกสร้างขึ้น ซึ่งสามารถทำลายเม็ดโลหิตแดงหากได้รับเลือดไม่ตรงหมู่ในภายหลัง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจ Rh ให้แน่ชัดก่อนการถ่ายโลหิตทุกครั้ง
การให้และรับเลือดของแต่ละกรุ๊ป
“กรุ๊ปเลือด หรือ หมู่โลหิต” จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการถ่ายโลหิต (การให้และรับเลือด) เนื่องจากไม่สามารถให้หรือรับเลือดกันได้โดยอิสระในทุกกรณี เพราะหากรับเลือดที่ไม่เข้ากันอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
2 พฤษภาคม 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
เขียนและรวบรวม โดย นัฐภรณ์ ผลพฤกษา
ดูคลิป ชัวร์ก่อนแชร์ เพิ่มเติม
ชัวร์ก่อนแชร์ : 4 วิธี ทำให้เลือดสมดุลมากขึ้น จริงหรือ ?
อ้างอิง
หมู่โลหิต : https://www.scimath.org/lesson-biology/item/8802-2018-09-21-02-18-35
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโลหิต : https://web.ku.ac.th/saranaroo/chap5a.htm
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter