ช่วงนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด แดดแรง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อที่ปนเปื้อนในน้ำและอาหาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัย และนำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง
นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนจัดยังอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางอ้อมได้อีกด้วย
การตระหนักรู้และป้องกันอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเฝ้าระวัง “3 โรค 2 ภัย” ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และรักษาคุณภาพชีวิตของตนเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัย
3 โรค ต้องระวัง!
1. โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)
โรคอาหารเป็นพิษ นับเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัสบางชนิดได้เป็นอย่างดี หากบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้เข้าไป อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และนำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยได้
สาเหตุ : เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสโปรโตซัว หรือสารพิษที่สร้างจากเชื้อแบคทีเรีย ความรุนแรงของโรคอาจทำให้เสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดและปริมาณของเชื้อก่อโรค
อาการมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหลังรับประทานอาหารปนเปื้อน ได้แก่
– คลื่นไส้
– อาเจียน
– ปวดท้อง
– อาจถ่ายเหลว
จากข้อมูลโรคอาหารเป็นพิษย้อนหลัง 5 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2567) โดย กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 – 2567
2. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea)
อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของ “โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน” หนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในฤดูร้อน โดยเฉพาะเมื่อสุขอนามัยในการบริโภคไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
สาเหตุ : เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อเชื้อโรค หรือการล้างมือไม่สะอาดก่อนการเตรียมหรือปรุงอาหาร ทำให้ติดเชื้อไวรัส เช่น Rotavirus Norovirus และเชื้อแบคทีเรีย เช่น Salmonella spp., E. Coli และยังสามารถเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว หรือหนอนพยาธิได้ นอกจากนี้ยังเกิดจากการได้รับยาหรือสารพิษต่าง ๆ เช่น ยาระบาย
อาการที่มักเกิดขึ้น
– ถ่ายเหลว
– ถ่ายเป็นน้ำ
– บางรายอาจถ่ายปนมูกเลือด
– อาจมีอาการอื่นร่วม เช่น มีไข้ อาเจียน หรือมีภาวะขาดน้ำ
ส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่หากมีอาการอยู่หลายวันอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ต่อเนื่อง ซึ่งหากสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไปอาจทำให้ช็อก หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้
ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา ย้อนหลัง 5 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2567) พบว่า มีรายงานผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วงต้นปีและลดลงในช่วงกลางปีและปลายปี
3. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งเป็นพาหะของโรค ทำให้เกิดความเครียดหรือหงุดหงิดได้ง่าย ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์กัดหรือข่วนมากขึ้น
สาเหตุ : เกิดจากการรับเชื้อไวรัส Rabies ผ่านทางน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ สุนัข โค กระบือ และแมว ตามลำดับ ที่ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล หรือเยื่อเมือกต่าง ๆ
อาการที่มักเกิดขึ้น
ระยะแรกอาการไม่ชัดเจน
ระยะต่อมาเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางแล้ว จะทำให้เกิดการอักเสบของสมองและไขสันหลัง และเริ่มมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น
– ปวดศีรษะ
– เจ็บเสียวบริเวณแผล
– กระสับกระส่าย
– กลัวแสง
– กลัวลม
– กลืนลำบาก โดยเฉพาะเมื่อดื่มน้ำ
– บางรายอาจแสดงอาหารซึม กล้ามเนื้อแขน ขา ใบหน้า ค่อย ๆ อ่อนแรงเป็นอัมพาต โดยเริ่มจากบริเวณแผล
ระยะสุดท้าย
– อาการรุนแรงจนกระทั่งหมดสติ
– เสียชีวิต เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา ย้อนหลัง 5 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2567) จากการสอบสวนโรคพบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต คือ ผู้ป่วยไม่พบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังจากที่โดนกัดหรือข่วน
2 ภัยต้องดูแล!
1. ภัยจากอากาศร้อน
เป็นภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้น เมื่อร่างกายได้รับความร้อนหรือสร้างความร้อนมากเกินไปเกินกว่าระดับที่ร่างกายจะรับได้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้คงที่ หรือไม่สามารถปรับตัวต่อความร้อนได้จึงเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย เช่น โรคฮีตสโตรก และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
จากข้อมูลการเฝ้าระวังเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะอากาศร้อน (Hot Weather relates Deaths Surveillance) กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ของทุกปี พบว่าในปี พ.ศ. 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น และหากจำแนกรายเดือนพบว่า มีการรายงานการเสียชีวิตมากที่สุดในเดือนเมษายน คิดเป็นร้อยละ 70 ซึ่งเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 44 องศาเซลเซียส
2. ภัยจากการจมน้ำ
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำเพราะอากาศร้อน และขาดความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ รวมถึงทักษะการเอาชีวิตรอด
จากรายงานของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2557-2566) มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ เฉลี่ยปีละ 3,650 ราย หรือวันละ 10 ราย
คาดการณ์สถานการณ์จมน้ำ พบว่ายังคงมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม โดย
17 เมษายน 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
เขียนและรวบรวม โดย นัฐภรณ์ ผลพฤกษา
ดูคลิป ชัวร์ก่อนแชร์ เพิ่มเติม
ชัวร์ก่อนแชร์ CHECK-LIST : 5 เรื่องฮิต สารพัดสิ่งที่ห้ามทำช่วงหน้าร้อน จริงหรือ ?
ชัวร์ก่อนแชร์ : คลิปเด็กร้องเหมือนเสียงเห่า คือโรคพิษสุนัขบ้าจริงหรือ ?
ชัวร์ก่อนแชร์ : ถูกสุนัข-แมวกัดให้บีบเลือด จริงหรือ?
ชัวร์ก่อนแชร์ CHECK-LIST : 5 เรื่องฮิต สารพัดวิธีแก้ท้องเสีย จริงหรือ ?
อ้างอิง
ประกาศกรมควบคุมโรค เรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพ ที่เกิดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2568 – https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2/doe/files/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%202568.pdf
อากาศร้อน สัตว์หงุดหงิดง่าย ระวังถูกสุนัข-แมวกัด
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter