เมื่ออุณหภูมิพุ่งสูงจนร่างกายปรับตัวไม่ทัน สิ่งที่เราต้องเผชิญอาจไม่ใช่แค่ความไม่สบายตัว แต่คือภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ภายใต้แสงแดดจ้า นั่นคือ “ฮีตสโตรก” ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อนจัดอย่างที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในขณะนี้ การรู้เท่าทัน ป้องกัน และรับมืออย่างถูกวิธี จึงอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยรักษาชีวิตของคุณและคนรอบข้างเอาไว้ได้

โรคฮีตสโตรกเกิดตอนไหน?
“โรคฮีตสโตรก” (Heatstroke) โรคลมร้อน เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิความร้อนสูงมาก โดยเฉพาะอุณหภูมิที่มากกว่า 40 องศาเซลเซียส จนทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้
โรคฮีตสโตรก แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. โรคฮีตสโตรกทั่วไป (classical or nonexertional heat stroke; NEHS)
– พบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
– เกิดจาก การอยู่ในสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง ทำให้กลไกการระบายและควบคุมความร้อนทำงานล้มเหลว ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนจึงมีอุณหภูมิแกนของร่างกายสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส
2. โรคฮีตสโตรกจากการออกกำลังกาย (exertional heat stroke; EHS)
– พบในวัยหนุ่มสาว
– เกิดจาก การทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายอย่างหนักกลางแจ้งเป็นเวลานานหรือในสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้เพิ่มการสร้างความร้อนของร่างกายมากกว่าที่ร่างกายจะสามารถระบายความร้อนได้ทัน จนกระทั่งอุณหภูมิแกนของร่างกายสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส
จากการรวบรวมรายงานการเสียชีวิตที่อาจจะเกี่ยวข้องกับความร้อน จากภาวะอากาศร้อนในปี พ.ศ. 2567 โดย กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า มีรายงานการเสียชีวิตมากที่สุดในเดือนเมษายน คิดเป็นร้อยละ 70 ซึ่งเดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 44 องศาเซลเซียส (°C)
อาการของโรค
– ตัวร้อน
– วิงเวียน
– ปวดมึนศีรษะ
– คลื่นไส้
– อาเจียน
– อ่อนเพลีย
– ภาวะขาดน้ำ
– เหงื่อออกมาก
– หัวใจเต้นแรง
– เป็นลม
– อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก พูดจาสับสน
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
หากพบผู้เริ่มมีอาการฮีตสโตรก ให้รีบนำเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็น และให้ดื่มน้ำมาก ๆ
– ให้ผู้ป่วยนอนราบ
– คลายเสื้อผ้าให้หลวม
– ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ
– ใช้พัดลมเป่าระบายความร้อนร่วมด้วย
หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้โคนลิ้นอุดกั้นทางเดินหายใจ และให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669
ทำไมต้องอย่าให้หัวร้อน?
เพราะสมองส่วนไฮโปทาลามัส (hypothalamus) ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความดันเลือดและความต้องการพื้นฐานของร่างกาย เช่น น้ำ อาหาร การพักผ่อน
ปกติอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ในภาวะปกติจะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ ในร่างกาย การที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือจากการทำงานของเซลล์ ร่างกายก็จะปรับสมดุลความร้อนผ่านระบบประสาทส่วนกลาง (สมองส่วนไฮโปทาลามัส) และกลไกทางสรีรวิทยาหลาย ๆ วิธี เช่น การปรับขนาดของหลอดเลือดเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด การทำงานของต่อมเหงื่อเพื่อระบายความร้อนผ่านผิวหนัง
ในกรณีของโรคฮีตสโตรกที่อุณหภูมิของอากาศใกล้เคียงกับอุณหภูมิของร่างกาย วิธีการนำความร้อน (conduction) เป็นการถ่ายเทความร้อนจากวัตถุที่มีอุณหภูมิสูงกว่าไปยังวัตถุที่มีอุณหภูมิต่ำกว่จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การเช็ดตัวด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกาย สามารถระบายความร้อนได้ดี จึงช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายได้ โดยเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ เพื่อให้ร่างกายปรับสมดุลความร้อนผ่านระบบประสาทส่วนกลางและกลไกทางสรีรวิทยาได้ดียิ่งขึ้น
ฮีตสโตรกป้องกันได้
1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่องนานเกินไป
2. ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่
3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศร้อน อับ และถ่ายเทไม่ดี
5. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงใส่เสื้อผ้าสีทึบดำ เพราะจะสะสมความร้อนได้ ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน และไม่รัดแน่นจนเกินไป
6. ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด โดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากรถที่จอดตากแดดโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศอาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้เร็วมากภายใน 10 – 20 นาที
7. ไม่ควรอยู่กลางแจ้งคนเดียว ควรอยู่เป็นกลุ่ม เพราะหากมีอาการผิดปกติจะได้มีคนช่วยเหลือได้ทัน
15 เมษายน 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
เขียนและรวบรวม โดย นัฐภรณ์ ผลพฤกษา
ดูคลิป ชัวร์ก่อนแชร์ เพิ่มเติม
ชัวร์ก่อนแชร์ : เตือนสัญญาณฮีทสโตรกในคน จริงหรือ ?
ชัวร์ก่อนแชร์ : ยาหอมป้องกันฮีทสโตรก จริงหรือ ?
ชัวร์ก่อนแชร์ LIVE : HEAT STROKE วิธีรับมือ โรคจากความร้อน
อ้างอิง
โรคลมร้อนหรือโรคลมแดด ภัยเสี่ยงถึงชีวิต (Heat Stroke) – https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/454/
กรมควบคุมโรค เตือนเข้าสู่ฤดูร้อนกลุ่มเสี่ยงและคนทำงานกลางแจ้งระวังโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก – https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=51051&deptcode=brc&news_views=40
สมองน่ารู้ – https://il.mahidol.ac.th/e-media/nervous/ch2/chapter2/part_1_1.html
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter