“ลิชมาเนีย” โรคที่คนไทยรู้จักกันไม่มาก แต่ทำให้เสียชีวิตได้ และพบหลายพื้นที่ในประเทศไทย
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศ.นพ.ดร.เผด็จ สิริยะเสถียร ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในอดีต “โรคลิชมาเนีย” (Leishmania) สามารถพบได้หลายพื้นที่ทั่วโลกในประเทศเขตร้อนและใกล้เขตร้อน ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ก็ยังไม่พบในประเทศไทย
ผู้ป่วยโรคลิชมาเนียจะพบเฉพาะในคนต่างชาติ และ/หรือ คนไทยที่เดินทางไปทำงานแถบตะวันออกกลาง และเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย (มีบางคนอาจได้รับเชื้อโรคลิชมาเนียติดตัวมาด้วย)
ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าพบคนไทยที่ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศแต่ป่วยเป็นโรคลิชมาเนียได้เช่นเดียวกัน
“ลิชมาเนีย” โรคที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม NTD : Neglected tropical diseases คือ โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย
ในความเป็นจริงแล้วอาการของโรคลิชมาเนียค่อนข้างรุนแรง การรักษาใช้เวลานาน โดยเฉพาะคนที่ภูมิคุ้มกันน้อยกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome : AIDS) ที่ติดเชื้อลิชมาเนียร่วมด้วย
เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2568 เว็บไซต์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตือนภัยอันตรายของ “โรคติดเชื้อโปรโตซัวลิชมาเนีย” ซึ่งมีแมลงริ้นฝอยทรายเป็นพาหะนำโรค
ประเทศไทยพบผู้ป่วยช่าวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศแถบตะวันออกกลางติดเชื้อโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) เข้ามายังประเทศไทย และรวมถึงพบผู้ป่วยโรคลิชมาเนียที่ติดเชื้อในประเทศด้วย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน มีรายงานพบผู้ป่วยโรคลิชมาเนียในประเทศไทย 45 ราย เสียชีวิต 7 ราย และตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วยโรคลิชมาเนีย 2 ราย
“ลิชมาเนีย” โรคติดต่อนำโดยแมลง
โรคลิชมาเนียเกิดจากเชื้อโปรโตซัวกลุ่มหนึ่ง พบได้ 2 ระยะคือ พบในแมลง และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เช่น คน สุนัข วัว หนู
แมลง “ริ้นฝอยทราย” (sand fly) และ “ริ้นน้ำเค็ม” (Biting midges) คือพาหะของโรคลิชมาเนีย
ริ้นฝอยทรายและริ้นน้ำเค็ม ออกหากินเวลาพลบค่ำหรือกลางคืน การออกไปกรีดยางเวลากลางคืน มีกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ควรทาสารเคมีป้องกันแมลง จะช่วยให้ลดการถูกแมลงกัดได้มาก
นอกจากนี้ ยังไม่มั่นใจว่าตัวสัตว์ที่เป็น “รังโรค” และเพิ่มจำนวนของโรคจริง ๆ คืออะไร เพราะจากการตรวจพบดีเอ็นเอในหนู สุนัข แต่ต้องแสดงให้เห็นว่ามีเชื้อจริง ๆ ไม่ใช่มีแค่ดีเอ็นเอของเชื้อ
เชื้อโรคลิชมาเนียจัดอยูในกลุ่มโปรโตซัว มีขนาด 3 ไมครอน ต้องดูจากกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น ซึ่งจะต้องนำแมลงพาหะมาผ่าถึงจะมองเห็นตัวเชื้อนี้
ส่วนในผู้ป่วยที่มาด้วยแผล และนำแผลมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็มีโอกาสเห็นตัวเชื้อได้เหมือนกัน
คนที่ถูกแมลงพาหะกัดจะไม่แสดงอาการทันที อาจจะใช้เวลา 3-6 เดือน หรือ 1 ปี อาการจะปรากฏให้เห็น ซึ่งพบได้ทั้งผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติหรือผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันน้อยกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม และพบในผู้ป่วยโรคเอดส์มากกว่าผู้ป่วยปกติ
ดังนั้น ถ้ามีแผลและใช้เวลารักษานานแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แผลขยายใหญ่ขึ้น รวมทั้งผู้ป่วยอาศัยอยู่ในแหล่งระบาด ควรส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโรคลิชมาเนีย (ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันปกติหรือภูมิคุ้มกันน้อยกว่าปกติ)
เชื้อโรคลิชมาเนียที่พบในประเทศไทย
สำหรับเชื้อโรคลิชมาเนียที่พบมี 2 ตัวหลัก คือ 1.พบได้ทั่วโลก 2.พบได้เฉพาะในประเทศไทย เรียกว่า โรคลิชมาเนียโอเรียนทาลิส (Leishmania orientalis)
โรคลิชมาเนียโอเรียนทาลิสอาจจะทำให้เกิดแผลบริเวณใบหน้ารุนแรงได้ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเอดส์ก็มีเสียชีวิตไปแล้ว 1 รายด้วยเชื้อชนิดนี้
เชื้อโรคลิชมาเนียคงจะมีอยู่แล้วในประเทศไทย แต่ในอดีตไม่มีปัญหาโรคเอดส์เข้ามาในประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเอดส์จำนวนมากขึ้น เชื้อโรคสามารถกระจายผ่านแมลงได้ การวินิจฉัยมีความแม่นยำและรวดเร็วมากด้วย
ส่วนใหญ่พบโรคลิชมาเนียทางภาคใต้และภาคเหนือของประเทศไทย สาเหตุหนึ่งจากแมลงพาหะชอบอากาศชื้น เช่น ตัวอ่อนริ้นน้ำเค็มเจริญเติบโตได้นานและดีในดินโคลนที่มีความชื้นตลอด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วย ยกเว้นเคยพบในกลุ่มนักศึกษาที่เคยไปฝึกงานประเทศอิสราเอลติดโรคกลับมา
อาการของโรคลิชมาเนีย
โรคลิชมาเนียมีอาการ 3 รูปแบบ ขึ้นกับภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยและชนิดของเชื้อ
แบบที่ 1 ไม่รุนแรงมาก เรียกลิชมาเนียที่ผิวหนังคล้ายแผล ขึ้นกับว่าครั้งแรกที่ติดเชื้อแมลงกัดกี่ตำแหน่ง
แบบที่ 2 บริเวณเยื่อบุต่าง ๆ อาจจะทำลายริมฝีปาก ผนังกั้นช่องจมูก
แบบที่ 3 รุนแรงมากที่สุด พบในอวัยวะภายใน ตับ ม้าม ไขกระดูก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคลิชมาเนีย
เส้นทางการติดต่อสู่คนของเชื้อโรคลิชมาเนีย โดยแมลงเป็นพาหะ
ระยะที่พบเชื้อในแมลงสามารถเคลื่อนที่ได้ โดยแมลงใช้อวัยวะที่เรียกว่า flagella ขณะที่แมลงกัดดูดเลือดคนหรือสัตว์ เ
ชื้อลิชมาเนียจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในตัวแมลงและย้ายไปอยู่ใกล้ ๆ ปากแมลง เมื่อแมลงไปกัดคนหรือสัตว์เพื่อดูดเลือดครั้งต่อไป ก็จะถ่ายทอดตัวลิชมาเนียเข้าสู่ร่างกายของคนหรือสัตว์
ขณะที่เชื้อลิชมาเนียเข้าสู่ร่างกายคนจะถูกเม็ดเลือดขาวกิน ที่เรียกว่า แมกโครฟาจ (macrophage) แต่เชื้อลิชมาเนียสามารถหลบหลีกแมกโครฟาจได้และยังไปเพิ่มจำนวนในเซลล์แมกโครฟาจเรื่อย ๆ จนเซลล์แมกโครฟาจแตกแล้วไปติดเซลล์แมกโครฟาจอื่น ๆ ในร่างกาย รวมถึงสามารถเดินทางไปยังอวัยวะสำคัญ (เช่น ตับ ม้าม ไขกระดูก) ของคนเรา
เชื้อลิชมาเนียสามารถกดการทำงานของไขกระดูก ทำให้ผู้ป่วยซีด เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ ลดลง
ตัวเชื้อลิชมาเนียเล็กมาก จะต้องส่องกล้องดูถึงจะมองเห็น ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าอยู่ในพื้นที่ระบาด เช่น จังหวัดทางภาคใต้ หรือภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย) จะต้องให้บุคลากรทางสาธารณสุขนึกถึงโรคนี้มากขึ้น เพราะอดีตเรามักคิดกันว่าโรคลิชมาเนียไม่มีอยู่ในประเทศไทย ทำให้ปล่อยปะละเลย
ดังนั้น ใครที่ต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาดของเชื้อโรคลิชมาเนีย ง่ายที่สุดก็คือการทาสารเคมีที่ใช้ไล่แมลง (ชนิดเดียวกับที่ใช้ไล่ยุง) ป้องกันไม่ให้แมลงเหล่านี้มากัด
ถ้าพบผู้ป่วย 1 คน ทีมสอบสวนโรคก็จะต้องลงพื้นที่ไปควบคุมไม่ให้แมลงไปกัดคนอื่นเพิ่ม และต้องศึกษาเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับสัตว์ที่เป็นรังโรค (สุนัข แมว วัว) บริเวณบ้านของผู้ป่วย จากนั้นนำแมลงรอบ ๆ บ้านผู้ป่วยมาดูว่ามีเชื้อลิชมาเนียอยู่หรือไม่
สำหรับคนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ระบาดจะต้องระมัดระวังตัวเอง เช่น ถ้ามีแผลหรือมีไข้เรื้อรัง อาจจะต้องแจ้งแพทย์ว่าบริเวณที่พักอาศัยมีผู้ป่วยลิชมาเนียมาก่อน จะทำให้แพทย์นึกถึงโรคนี้ได้มากขึ้น หรือผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ มีตับและม้ามโตแพทย์ควรนึกถึงโรคนี้ไปด้วย เพราะลิชมาเนียมักจะเป็นโรคที่ถูกละเลยไม่ได้รับการวินิจฉัย
การรักษาโรคลิชมาเนีย
เนื่องจากเดิมประเทศไทยไม่คิดว่าจะเป็นแหล่งระบาดของโรคนี้ ยาที่ใช้รักษาโรคลิชมาเนียจึงมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้น เช่น นำยากลุ่มฆ่าเชื้อรามาใช้กับโรคนี้
โรคลิชมาเนียที่พบในคนไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ภูมิคุ้มกันน้อยกว่าปกติ อาจจะต้องใช้เวลารักษา และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเสียชีวิต รวมถึงมีผู้ป่วยบางคนกลับมาเป็นซ้ำอีก
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สามารถแยกเชื้อจากผู้ป่วยโรคลิชมาเนียได้ประมาณ 10 สายพันธุ์ ใช้สำหรับการศึกษา วิจัย อนาคตก็ศึกษาความไวของแต่ละสายพันธุ์กับยาที่มีอยู่ หรือยาที่คิดว่าจะต้องนำเข้ามาใช้
บางสายพันธุ์ที่ได้จากผู้ป่วยที่กลับเป็นซ้ำ จะได้ทดสอบว่าควรปรับปริมาณยาหรือการใช้ยาที่ยาวขึ้น
สำหรับในพื้นที่พบผู้ป่วยโรคลิชมาเนีย ทีมงานก็จะรีบแจ้งกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะลงไปฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง
เนื่องจากไม่รู้ชัดเจนว่าสัตว์ตัวไหนคือรังโรคลิชมาเนีย ดังนั้นการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงจึงเป็นแนวทางป้องกันที่เหมาะสม
ในความเป็นจริง มีแมลงพาหะหลายชนิดกัดคนแล้วนำโรค เช่น ยุง ริ้นฝอยทราย ริ้นน้ำเค็ม ไม่เฉพาะลิชมาเนีย มีการนำเชื้อไวรัส เช่น ยุงนำโรคไข้เลือดออก (Dengue fever) โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya หรือ Chikungunya fever) โรคไข้ซิกา (Zika fever) นำไวรัสไปติดเชื้อที่สมอง
แนวทาง “การป้องกัน” สำคัญมาก คือ การป้องกันตัวไม่ให้ถูกแมลงกัดเป็นเรื่องที่สำคัญ ทำลายแห่งเพาะพันธุ์ยุงทำให้โรคที่มาสู่ตัวเราลดน้อยลง
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เขียนและเรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ
1. ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : โรคลิชมาเนีย : เชื้อร้ายที่มากับ “ริ้นฝอยทราย”
2. ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : โรคลิชมาเนีย : รักษาและป้องกัน
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter