กรุงเทพฯ 2 ม.ค. – กรมวิชาการเกษตรเดินหน้าพัฒนาพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนและแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตหรือ GEd ขณะนี้มีพันธุ์พืชที่ใช้เทคโนโลยี GEd ซึ่งได้รับการอนุมัติใช้ประโยชน์เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลกแล้ว 3 ชนิด ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรร่วมมือกับภาคเอกชนที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีในการพัฒนาทดสอบในสภาพแปลงทดลอง นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทางในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางภาคเกษตรและอาหารของโลกซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและของศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง ภาวะโลกเดือด หรือศัตรูพืชอุบัติใหม่ โดยภาครัฐมีหน้าที่วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือหาแนวทางในการป้องกันและดูแลที่เหมาะสมสำหรับภาคการเกษตรให้รอดพ้นในทุกสถานการณ์ ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็น Seed hub ซึ่งเทคโนโลยีจีโนม (Gene Editing) หรือ GEd จะช่วยยกระดับรายได้ 3 เท่าของ 4 ปี ของเกษตรกรไทยได้อย่างแท้จริง สำหรับเทคโนโลยี GEd เป็นเทคนิคในการปรับเปลี่ยนและแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ที่มีความจำเพาะและแม่นยำ หรือแก้ไขให้ได้ยีนที่มีลักษณะตามต้องการ ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs มีความปลอดภัยสูง มีศักยภาพ ใช้ระยะเวลาสั้น ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการประกาศใช้นโยบาย no transgene = […]