03 พฤษภาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสนับสนุนทฤษฎีโลกแบนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่าคลิปวิดีโอที่ถ่ายจากบอลลูนสูงกว่า 120,000 ฟุตหรือ 37 กิโลเมตร แสดงขอบฟ้าของโลกเป็นเส้นตรง แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วสัณฐานของโลกเป็นพื้นที่แบนราบ ไม่ใช่ทรงกลม พร้อมอ้างว่าหนึ่งในความพยายามปิดบังข้อเท็จจริงเรื่องโลกแบนคือการยุติการจำหน่ายกล้องถ่ายรูปของบริษัท Nikon รุ่น Coolpix P1000 เนื่องจากสามารถซูมภาพได้ไกลมาก ๆ อาจจะเปิดเผยเส้นขอบของโลกที่ถูกปกปิดเป็นความลับมานาน



บทสรุป :
1.การจะสังเกตส่วนโค้งของโลกจำเป็นต้องอยู่สูงอย่างน้อย 1% ของรัศมีโลกที่ 63 กิโลเมตรหรือประมาณ 200,000 ฟุต
2.ภาพจากสถานีอวกาศที่ความสูง 400 กิโลเมตร หรือ 1.3 ล้านฟุต เทียบเท่า 7% ของรัศมีโลก แสดงสัณฐานของโลกทรงกลมชัดเจน
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

ส่วนโค้งของโลกสังเกตได้จากตำแหน่งที่สูงเพียงพอ
โลกมีรัศมีเฉลี่ย 6,371 กิโลเมตร การจะสังเกตส่วนโค้งของโลกได้อย่างชัดเจน ผู้สังเกตจำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งที่สูงอย่างน้อย 1% ของความยาวรัศมีโลก คือ 63 กิโลเมตรหรือประมาณ 200,000 ฟุต
แต่กระนั้น ภาพถ่ายในความสูงระดับ 60,000 ฟุตหรือ 18 กิโลเมตรจากเครื่องบินคองคอร์ด เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงที่ยุติการให้บริการตั้งแต่ปี 2003 ก็แสดงให้เห็นส่วนโค้งของโลกเช่นกัน
โลกเป็นทรงกลม ทำให้วัตถุหายไปจากเส้นขอบฟ้า
เส้นขอบฟ้า คือเส้นที่แบ่งระหว่างพื้นโลกกับท้องฟ้า โดยระยะห่างของเส้นขอบฟ้าจะแปรผันตามความสูงของผู้สังเกตการณ์ เช่น
หากผู้สังเกตการณ์มีความสูง 170 เซนติเมตร เส้นขอบฟ้าจะอยู่ห่างออกไป 4.7 กิโลเมตร
หากผู้สังเกตการณ์มีความสูง 200 เซนติเมตร เส้นขอบฟ้าจะอยู่ห่างออกไป 5 กิโลเมตร
หากผู้สังเกตการณ์อยู่บนตึกสูง 30 เมตร เส้นขอบฟ้าจะอยู่ห่างออกไป 19.6 กิโลเมตร
หากผู้สังเกตการณ์อยู่บนตึกสูง 100 เมตร เส้นขอบฟ้าจะอยู่ห่างออกไป 36 กิโลเมตร
หากผู้สังเกตการณ์อยู่บนดาดฟ้า ตึก Burj Khalifa ที่ความสูง 828 เมตร เส้นขอบฟ้าจะอยู่ห่างออกไป 103 กิโลเมตร
หากผู้สังเกตการณ์อยู่บนยอดภูเขา Mount Everest ที่ความสูง 8.8 กิโลเมตร เส้นขอบฟ้าจะอยู่ห่างออกไป 336 กิโลเมตร
หากผู้สังเกตการณ์อยู่บนเครื่องบินพาณิชย์ที่ความสูง 11 กิโลเมตร เส้นขอบฟ้าจะอยู่ห่างออกไป 369 กิโลเมตร
แม้การอยู่ใกล้ระดับน้ำทะเลจะทำให้สังเกตส่วนโค้งของโลกทำได้ยากกว่า แต่ก็ช่วยให้เห็นวัตถุหายไปจากเส้นขอบฟ้าได้ง่ายกว่าการสังเกตจากที่สูง ซึ่งเป็นการยืนยันว่าโลกกลมได้เช่นกัน
เช่น การสังเกตตำแหน่งเสาเรือที่ล่องออกจากชายฝั่ง ยิ่งล่องไปไกลจากชายฝั่งมากเท่าไหร่ ตำแหน่งเสาเรือก็จะลดต่ำลงเท่านั้น
นอกจากนี้ การเปรียบเทียบส่วนสูงของวัตถุที่อยู่คนละตำแหน่งบริเวณขอบฟ้า ช่วยยืนยันว่าโลกมีสัณฐานเป็นทรงกลมเช่นกัน
ภาพถ่ายที่เคยครองตำแหน่งเป็นภาพทิวทัศน์ที่ไกลที่สุดในโลก (Longest line of sight on earth photographed) ซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2016 เป็นการถ่ายภาพยอดเขา Pic Gaspard ในเทือกเขาแอลป์ของประเทศฝรั่งเศส โดยถ่ายจากยอดเขา Pic de Finestrelles ในเทือกเขาพิรินีในประเทศสเปน โดยมีระยะห่างถึง 443 กิโลเมตร
ในภาพจะเห็นว่ายอดเขา Pic Gaspard มีความสูงน้อยกว่ายอดเขา Grand Ferrand
ในความเป็นจริงแล้ว ยอดเขา Pic Gaspard มีความสูง 3.8 กิโลเมตร ส่วนยอดเขา Grand Ferrand มีความสูงที่ 2.7 กิโลเมตร หรือสูงต่างกันถึง 1.1 กิโลเมตร
สาเหตุที่ภาพถ่ายทำให้เห็นว่ายอดเขา Pic Gaspard เตี้ยกว่า เนื่องจากยอดเขา Pic Gaspard อยู่ไกลจากยอดเขา Grand Ferrand ไปอีก 51 กิโลเมตร
เนื่องจากโลกมีสัณฐานเป็นทรงกลม ทำให้ยอดเขา Pic Gaspard ที่อยู่ไกลกว่า ถูกส่วนโค้งของโลกทำให้มีส่วนสูงน้อยกว่า ยอดเขา Grand Ferrand ที่อยู่ใกล้ผู้สังเกตการณ์มากกว่า
Nikon รุ่น Coolpix P1000 เลิกผลิตเพราะมีรุ่นใหม่ออกมาแทน
ส่วนการอ้างว่า มีความพยายามปิดบังการพิสูจน์เส้นขอบฟ้า เนื่องจากบริษัท Nikon ถูกสั่งให้เลิกผลิตกล้องรุ่น Coolpix P1000 ซึ่งมีประสิทธิภาพด้านการซูมภาพระยะไกล ก็เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง
สาเหตุที่ กล้อง Nikon รุ่น Coolpix P1000 เลิกผลิตในปี 2024 เนื่องจากมีการเปิดตัวกล้อง Nikon รุ่นใหม่อย่าง Coolpix P1100 วางจำหน่ายในปี 2025 นั่นเอง
ภาพยืนยันโลกกลมจากอวกาศ
ภาพถ่ายจากสถานีอวกาศที่ระดับความสูง 400 กิโลเมตร หรือ 1.3 ล้านฟุต เทียบเท่า 7% ของรัศมีโลก แสดงสัณฐานของโลกอย่างชัดเจนว่าเป็นทรงกลม
ข้อมูลอ้างอิง :
https://leadstories.com/hoax-alert/2024/03/fact-check-long-distance-photos-do-not-prove-earth-is-not-flat.html
https://www.politifact.com/factchecks/2024/may/29/facebook-posts/earth-is-round-and-high-altitude-footage-doesnt-pr/
https://en.wikipedia.org/wiki/Horizon
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter