เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์อย่างเป็นทางการ หลายคนออกไปร่วมสนุกกับกิจกรรมสาดน้ำอย่างชุ่มฉ่ำทั่วประเทศ ทั้งคลายร้อนทั้งสร้างรอยยิ้ม แต่ท่ามกลางความสนุกนั้น อย่าลืมใส่ใจเรื่องความปลอดภัย เพราะอาจมีเชื้อโรคแอบแฝงมาโดยไม่รู้ตัว และ ก่อน-ระหว่าง-หลัง เล่นน้ำควรทำอย่างไรให้ปลอดภัยลดความเสี่ยง ควบคู่กับความสนุกเย็นฉ่ำ อย่าลืมว่า “น้ำ” ก็อาจทำหน้าที่เป็นตัว “นำ” พาเชื้อก่อโรคมาสู่ร่างกายเราได้ และหากเล่นน้ำกลางแดดเปรี้ยงก็อาจเสี่ยงป่วยได้!
มาทำความรู้จักกับ 5 โรคที่แอบแฝง ที่ควรระวังในช่วงสงกรานต์นี้ เพื่อให้สนุกได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัยตลอดเทศกาล
1. โรคตาแดง
โรคตาแดง (Red Eye) คือภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณตาขาว ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะในกลุ่ม อะดีโนไวรัส (Adenovirus) และบางกรณีอาจเกิดจาก เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus)
โรคนี้สามารถ แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีผู้คนรวมตัวกันหนาแน่น เช่น งานเทศกาล โรงเรียน ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ก็มีการรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมาก ทำให้อาจติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำและอุปกรณ์ปนเปื้อนเชื้อ หรือมีผู้ป่วยตาแดงอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ
- อาการ
- เยื่อบุตาขาวแดง บวม อาจมีเลือดออกเป็นปื้นๆ
- คัน เคืองตา น้ำตาไหล
- หากติดเชื้อแบคทีเรียอาจมีขี้ตาสีเหลือง
- เปลือกตาบวมแดง
- อาจมีอาการข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้
- บางรายมีอาการเหมือนเป็นหวัดร่วมด้วย ต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูโต บวม และอาจมีอาการเจ็บ
- บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่นกระจกตาอักเสบ (Keratitis) ร่วมด้วยได้
โรคตาแดง สามารถหายได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์ หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี หรือรีบมาพบจักษุแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ
2. ฮีตสโตรก
แม้จะเล่นน้ำเปียก ๆ เย็น ๆ แต่โรคฮีตสโตรกก็มักจะแอบแฝงมากับสงกรานต์เพราะอากาศที่ร้อนจัด และหลายคนมักอยู่กลางแดดนานโดยไม่รู้ตัว ทำให้อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคฮีตสโตรกได้
“โรคลมร้อน” หรือ “ฮีตสโตรก” (Heatstroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิในร่างกายเกิน 40 องศาเซลเซียส จนไม่สามารถปรับสมดุลความร้อนได้ ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
- อาการที่พบบ่อย
- ตัวร้อนจัด วิงเวียน ปวดหรือมึนศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก
- อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว เป็นลม
- ภาวะขาดน้ำ และอาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก หรือพูดจาสับสน
หากพบผู้มีอาการดังกล่าว ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นดังนี้
- พาเข้าที่ร่ม หรือห้องที่มีอากาศเย็น
- ดื่มน้ำมาก ๆ หากยังรู้สึกตัว
- ให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ รักแร้ และศีรษะ
- ใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ร่วมด้วย
หากผู้ป่วย หมดสติ ให้จับนอนตะแคง เพื่อป้องกันลิ้นอุดกั้นทางเดินหายใจ และ รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทร สายด่วน 1669
3. โรคอุจจาระร่วง
โรคอุจจาระร่วง หรือที่มักเรียกว่า “ท้องเสียเฉียบพลัน” อีกหนึ่งโรคที่มักเกิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์เนื่องจากอาหารและน้ำที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
ภาวะท้องเสียตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 24 ชั่วโมง หรือ ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ส่วนภาวะท้องเสียเฉียบพลันนั้น จะเป็นอาการท้องเสียที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยทั่วไปแล้วมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
อาการทั่วไป
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดปน
- ปวดท้อง / ปวดเบ่ง
- คลื่นไส้ / อาเจียน
- มีไข้
- ปากแห้ง / อ่อนเพลีย / ไม่มีแรง
- ปัสสาวะลดลง
- ความดันต่ำ หรือมีภาวะช็อก (ในรายที่รุนแรง)
หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์
- ไข้สูงเกิน 38°C
- ถ่ายเป็นมูกหรือมูกเลือด / ปวดท้องรุนแรง
- ถ่ายเหลวปริมาณมากคล้ายน้ำซาวข้าว
- ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวมาก, อายุเกิน 65 ปี, เด็กเล็ก หรือเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ
- มีอาการซึม / กระสับกระส่าย / ปากแห้ง / ปัสสาวะน้อย
4. โรคปอดอักเสบ
แม้ว่าโรคปอดอักเสบจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์โดยตรง แต่พฤติกรรมบางอย่างนั้นอาจส่งผลให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ เช่น เปียกน้ำแล้วไม่เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ติดเชื้อจากผู้คนในที่สาธารณะ หรือสูดดมน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) เกิดจากการติดเชื้อที่ถุงลมฝอย (Alveoli) ภายในเนื้อเยื่อปอด ซึ่งเชื้อ
ก่อโรคส่วนใหญ่เป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยติดต่อผ่านการหายใจ หรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ผ่านการไอ จาม แล้วนำมาสัมผัสที่จมูก ตาหรือปาก
อาการของโรคปอดอักเสบมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน
- ไข้
- ไอ
- หายใจหอบเหนื่อย
- มีอาการแสดงอื่น ๆ ที่ไม่จำเพาะ เช่น ท้องอืด อาเจียน ซึมโดยเฉพาะเด็กเล็ก
5. โรคน้ำกัดเท้า
โรคน้ำกัดเท้า เป็นอีกหนึ่งโรคที่มักมาพร้อมเทศกาลสงกรานต์ เพราะต้องเดินลุยน้ำทั้งวัน ทำให้เท้าเปียกชื้นจากการแช่น้ำเป็นเวลานานจนเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้
โรคน้ำกัดเท้า คือ อาการทางผิวหนังที่เกิดจากการแช่เท้าอยู่ในน้ำสกปรกเป็นเวลานาน หรือเท้าเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา มักเกิดบริเวณซอกนิ้วเท้า
อาการ
- ผิวหนังชั้นบนเริ่มเป็น ขุยขาว ๆ เปียกยุ่ย
- ระยะต่อมาผิวลอกเป็นแผ่นหรือสะเก็ด และ แตกเป็นร่อง
- มีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากการสะสมของเชื้อรา
- เมื่อแกะขุยออก จะเห็นผิวหนังข้างใต้ แดง มีน้ำเหลืองซึม
- มักมีอาการ คันยิบ ๆ ร่วมด้วย
- เชื้อราอาจลามไปที่ ฝ่าเท้า ทำให้ลอกเป็นขุย
ทั้งนี้ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลการเล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดภัยไว้ดังนี้
ก่อนเล่นน้ำ
- ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน หลวม ระบายอากาศได้ดี
- พกน้ำดื่ม ป้องกันร่างกายขาดน้ำ
- สวมหมวก แว่นกันแดด ทาครีมกันแดด (SPF 15+)
- ใส่รองเท้าแตะ ลดความเสี่ยงเชื้อราที่เท้า
ระหว่างเล่นน้ำ
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ น้ำหวาน น้ำอัดลม
- งดเล่นกลางแดดช่วง 11.00–15.00 น.
- เล่นเป็นกลุ่ม สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ตัวร้อนจัด มึนงง
- เลี่ยงเล่นน้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัด
หลังเล่นน้ำ
- รีบอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า
- ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ แม้ไม่กระหาย
- อยู่ในที่อากาศถ่ายเท ไม่เปิดพัดลมจ่อร่างกาย
13 เมษายน 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
เขียนและรวบรวม โดย นัฐภรณ์ ผลพฤกษา
ดูคลิป ชัวร์ก่อนแชร์ เพิ่มเติม
สงกรานต์กับดวงตา
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : แสงแดดกับการปกป้องดวงตา
สงกรานต์กับผิว
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : เตรียมผิวก่อนสงกรานต์
– ฮีตสโตรก
ชัวร์ก่อนแชร์ LIVE : HEAT STROKE วิธีรับมือ โรคจากความร้อน
ชัวร์ก่อนแชร์ : เตือนสัญญาณฮีทสโตรกในคน จริงหรือ ?
– สงกรานต์กับอากาศร้อน
ชัวร์ก่อนแชร์ : อากาศร้อน ห้ามดื่มและอาบน้ำเย็น จริงหรือ?
อ้างอิง
โรคตาแดง ไม่ร้ายแรงแต่รำคาญใจ
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/conjunctivitis
โรคตาแดง ชนิดใดอันตรายมาก และชนิดใดอันตรายน้อย รู้จักไว้ป้องกันทัน !
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute diarrhea)
กรมควบคุมโรค เตือนเข้าสู่ฤดูร้อนกลุ่มเสี่ยงและคนทำงานกลางแจ้งระวังโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=51051&deptcode=brc
โรคปอดบวม, ปอดอักเสบ (Pneumonia)
https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=21
https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1501520231123052757.pdf
สงกรานต์ เล่นน้ำอย่างไร ให้ปลอดภัย
https://multimedia.anamai.moph.go.th/infographics/info494_songkran1
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter