5 มี.ค.- เข้าสู่เดือนมีนาคม สิ่งที่ต้องจับตามองใกล้ชิด คือ นอกจากอากาศร้อนแล้ว เรื่องของภัยแล้งที่จะตามมา โดยเฉพาะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เร่งรัดให้ทุกโครงการชลประทานจังหวัดจัดทำข้อมูลสำรวจและวางแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนที่กรมชลประทานรับผิดชอบดูแล รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตชลประทาน รวบรวมข้อมูลสถานการณ์น้ำจัดทำเป็นรายงานสรุปผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบันอธิบดีกรมชลประทานยืนยันว่าเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ การเกษตร(พืชใช้น้ำน้อย) และอุตสาหกรรม ในเขตชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่
ขณะที่การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปีนี้ ข้อมูลกรมชลประทานถึง 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทั้งประเทศปลูกไปแล้วประมาณ 8.59 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ ส่วนใหญ่เป็นข้าวนาปรังประมาณ 8 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 870,000 ไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังประมาณ 5.85 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 5.30 ล้านไร่ จึงเกินแผนไปแล้วร้อยละ 10 เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 520,000 ไร่ อธิบดีกรมชลประทาน จึงให้ชลประทานทุกพื้นที่เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรขอให้งดทำนาปรัง (นารอบที่ 3) เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอจนเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนพืชไร่ พืชผัก ใช้น้ำน้อย ตามแผน จะปลูก 2.43 ล้านไร่ พบว่า มีการปลูกเพียง 510,000 ไร่เท่านั้น ชี้ให้เห็นได้ส่วนหนึ่งว่า การส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าว ยังได้รับความสนใจน้อยอยู่ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวเป็นหลัก
ดูปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศกันบ้าง จนถึงวันที่ 5 มีนาคม มีปริมาณน้ำทั่วประเทศประมาณ 47,000 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ประมาณ 50 % หรือ 23,800 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีน้ำใช้การ 58 % หรือ 27,600 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยหน้าแล้ง เขื่อนที่น่าเป็นห่วงมีปริมาณน้ำน้อยมี 3 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำ 28 % เขื่อนทับเสลา 25 % และเขื่อนกระเสียว 22 % ขณะที่ปีที่แล้วไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่า 30 % เลย
มาดู 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยากันบ้าง ปรากฏว่า ทั้ง 4 เขื่อน มีปริมาณน้ำใช้การ จนถึงวันนี้น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทุกเขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล น้ำใช้การ 40 % เขื่อนสิริกิติ์ 46 % เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 46 % และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 36% จากปีที่แล้วทั้ง 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำใช้การเกิน 50 % ทั้งสิ้น
นอกจากน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว น้ำที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างน้ำดิบผลิตน้ำประปาก็ต้องจับตาเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคระบุว่า พื้นที่เฝ้าระวังปัญหาขาดแคลนน้ำได้แก่ ภาคอีสานและบางส่วนของภาคเหนือตอนกลาง โดยมีการตรวจวัดระดับน้ำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ หากพบว่า แหล่งน้ำใดระดับน้ำลดลงน่าเป็นห่วง จะทยอยนำน้ำจากแหล่งน้ำระยะไกลเข้ามาสะสมเอาไว้ และให้ความมั่นใจระดับหนึ่งว่า หน้าแล้งนี้ น่าจะมีน้ำประปาเพียงพอ โดยมีผลกระทบต่อประชาชนไม่มาก
ส่วนที่จังหวัดบุรีรัมย์ สถานการณ์ภัยแล้งน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาในตัวเมืองบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำลดต่ำในรอบ 30 ปี ปัจจุบันเหลือน้ำเพียง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุอ่างทั้งหมด 26 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ต้องใช้น้ำดิบในการผลิตประปาเฉลี่ยวันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตร จึงคาดการณ์ว่าน้ำที่ตเหลือจะสามารถผลิประปาได้ถึงวันที่ 31 มี.ค.เท่านั้น จากสถานการณ์ดังกล่าว
นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จึงบูรณาการกับหลายภาคส่วน หามาตรการรองรับและป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ล่าสุด ประสานงานกับสำนักชลประทานที่ 8 ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทางกว่า 140 กิโลเมตรมาเติมสำรองในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้ให้ได้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อบริการประชาชนและหล่อเลี้ยงพื้นที่เศรษฐกิจได้ตลอดหน้าแล้งนี้
นี่เป็นตัวอย่างของพื้นที่ภัยแล้งที่ต้องจับตามอง ว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ขณะที่มาตรการแก้ไขและการประหยัดน้ำของประชาชน อาจจะต้องเตรียมการรับมือกันไว้บ้างแล้ว.-สำนักข่าวไทย