กรุงเทพฯ 6 ต.ค. – ศปช. ย้ำประชาชนในพื้นที่เสี่ยงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ย้ายของขึ้นที่สูง ด้านกรมชลฯ เร่งระบายน้ำเชียงใหม่ต่อเนื่อง ก่อนที่น้ำจะไหลเข้าพื้นที่ อ.สารภี และบางตำบลของ จ.ลำพูน ขณะที่ ศธ.ขยายเวลาซ่อมเครื่องใช้ที่แม่สาย ถึงกลางเดือนนี้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช.ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย ย้ำเตือนประชาชนในบริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รวม 11 จังหวัด ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ภายหลังเขื่อนเจ้าพระยาปรับการระบายน้ำ มาอยู่ที่อัตรา 2,200 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่เวลา 16.00 น. วันนี้ (6 ต.ค.67) และยังคงการระบายน้ำที่อัตราดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด ได้แก่ คลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบริเวณ จ.ชัยนาท อ.สรรพยา และวัดสิงห์ (ต.โพนางดำตก), อ.เมืองสิงห์บุรี พรหมบุรี และอินทร์บุรี (วัดสิงห์ วัดเสือข้าม) จ.สิงห์บุรี, อ.ป่าโมก และไชโย (วัดไชโย) จ.อ่างทอง , อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล ผักไห่ (ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง) และเสนา (ต.หัวเวียง) จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.เมืองปทุมธานี และสามโคก จ.ปทุมธานี, อ.ปากเกร็ด (ต.ท่าอิฐ) อ.เมืองนนทบุรี (ต.ไทรม้า และบางไผ่) จ.นนทบุรี ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง
“แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด ได้ประสานทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าแล้ว ขอให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ย้ำประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1567 ตลอด 24 ชม. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ระดมกำลังเพื่อช่วยคลี่คลายความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนโดยเร็ว”
ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่า มวลน้ำมหาศาลกำลังเคลื่อนตัวกระจายไปตามเส้นทางต่างๆ นั้น นายจิรายุ กล่าวว่า สทนช. และกรมชลประทาน ชี้แจงว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำที่ จ.เชียงใหม่ มีแนวโน้มลดลง คาดว่าระดับน้ำจะกลับเข้าสู่ตลิ่งในวันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.) และปริมาณน้ำส่วนนี้จะไหลต่อเนื่องเข้าสู่พื้นที่ อ.สารภี และเข้าสู่เขต ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน ลงสู่ลำน้ำแม่กวง แล้วจึงไหลผ่านตัวเมืองลำพูน ก่อนไหลกลับลงสู่แม่น้ำปิงอีกครั้ง ที่บ้านสบทา อ.ป่าซาง ซึ่งขณะนี้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ บางพื้นที่ เช่น ต.หนองผึ้ง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.8-1.50 เมตร จ.เชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดที่มีน้ำท่วมขัง เร่งระบายน้ำสู่พื้นที่ตอนล่าง ส่วนพื้นที่ อ.เมืองลำพูน (ต.เหมืองง่า อุโมงค์ ริมปิง ประตูป่า เวียงยอง หนองช้างคืน ต้นธง บ้านแป้น) จ.ลำพูน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.3-0.5 เมตรแล้ว คาดการณ์ระดับน้ำท่วมสูงสุดบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำใน จ.ลำพูน อาจสูงได้ถึง 0.8-1.5 เมตร กรมชลประทานได้กำจัดวัชพืชในทางน้ำ และเตรียมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำสำหรับการเร่งระบายน้ำในพื้นที่ โดยให้สามารถระบายน้ำได้เท่ากับที่ จ.เชียงใหม่ สูบระบายน้ำลงมา
สำหรับการเดินทางไปเส้นทางภาคเหนือ มีการปรับการให้บริการ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ขยายวงกว้าง นายจิรายุ กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กำหนดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีนครลำปาง สถานีลำพูน และสถานีขนส่งอาเขต (เก่า) จ.เชียงใหม่ โดยสายเหนือเปิดให้บริการเฉพาะเส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์-นครลำปาง-กรุงเทพอภิวัฒน์ เพราะสถานีเชียงใหม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะนี้ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ผู้โดยสารที่ไม่ประสงค์เดินทางช่วงสถานีนครลำปาง-เชียงใหม่-นครลำปาง สามารถขอคืนค่าโดยสารได้ที่สถานีทุกแห่งทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์ 1690 หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ คาดการณ์อีก 2 วัน จะสามารถเปิดทำการได้ตามปกติ
นายจิรายุ ยังกล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ จ.เชียงราย ว่า เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนยังคงปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย ที่ถูกน้ำท่วมอีกระลอก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน ณ วัดผาสุการาม บ้านไม้ลุงขน และชุมชนเหมืองแดง ต.แม่สาย เพื่อให้บริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยวันนี้ (6 ต.ค.67) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของศูนย์ฯ พบว่ามีประชาชนเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง จึงขยายเวลาให้บริการไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมนี้
“หลังจาก ศธ. เปิดจุดซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ ได้รับการตอบรับดีมาก สร้างความพอใจให้ประชาชนอย่างมาก จากเดิมจะปิดศูนย์ฯ วันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.) ก็มีแผนขยายเวลาให้บริการจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุด และอาจขยายเวลาเพิ่มเติมอีก” นายจิรายุ กล่าว
ประธาน ศปช.ส่วนหน้า ติดตามการสร้างบ้านน็อกดาวน์ ที่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร จ.เชียงราย
นายจิรายุ ยังกล่าวว่า วันนี้ (6 ต.ค.67) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ส่วนหน้า (ศปช.ส่วนหน้า) จ.เชียงราย ลงพื้นที่ติดตามการสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้ผู้ประสบอุทกภัย ที่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร อ.เมืองเชียงราย หลังบ้านเรือนถูกน้ำในลำน้ำกกล้นตลิ่งหลากเข้าซัดเสียหายหลายหลังคาเรือน โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการให้เรือนจำกลางเชียงราย นำเจ้าหน้าที่พร้อมผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ใกล้พ้นโทษ ร่วมสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้ผู้ประสบอุทกภัย มีเป้าหมายสร้างเสร็จหลังแรกในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ และจะเร่งดำเนินการสร้างหลังต่อๆ ไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบอุทกภัย
ระดมทีมเข้าช่วยเหลือดูแลสุขภาพช้างในศูนย์บริบาลช้าง
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมสัตวแพทย์ของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้เข้าช่วยเหลือช้างที่ศูนย์บริบาลช้าง ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ หลังระดับน้ำในพื้นที่ลดลง โดยมีช้างคงเหลือ 116 เชือก (เพศเมีย 106 เชือก, เพศผู้ 10 เชือก) จากจำนวน 118 เชือก เบื้องต้นทุกเชือกอาการปกติ แต่ก็มีแผนฟื้นฟูและเฝ้าระวังโรคหลังน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีทีมสัตวแพทย์เข้าให้คำแนะนำกับปางช้างที่อยู่ตามลำน้ำ และช่วยดูแลรักษาหากมีช้างเจ็บป่วย รวมทั้งสนับสนุนอาหาร วัสดุอุปกรณ์ควบคุมช้าง สำหรับช้างที่ล้ม 2 เชือก สาเหตุมาจากไหลไปกับกระแสน้ำ แล้วกระแทกโขดหิน จนจมน้ำ พบซากที่บริเวณอุโมงค์น้ำ ตามที่เป็นข่าว.-319-สำนักข่าวไทย