17 ตุลาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เผยแพร่โดยนักทฤษฎีสมคบคิดในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าสาเหตุที่ประชากรโลกมีอาการแพ้อาหารเพิ่มขึ้น มาจากส่วนประกอบโปรตีนในวัคซีนโควิด-19 ที่ชื่อว่า Alpha-Gal ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ผู้ได้รับวัคซีนเกิดอาการแพ้เนื้อสัตว์ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการให้ประชากรโลกลดการกินเนื้อสัตว์เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
บทสรุป :
- Alpha-Gal Syndrome คือโรคแพ้เนื้อแดงจากการกินเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งมีโมเลกุลน้ำตาล Alpha-Gal เป็นส่วนประกอบ
- วัคซีนโควิด-19 ไม่มีโปรตีนจากสัตว์หรือโมเลกุลน้ำตาล Alpha-Gal เป็นส่วนประกอบ จึงไม่ทำให้เป็นโรคแพ้เนื้อแดงได้
- Alpha-Gal Syndrome ระบาดในสหรัฐฯ จากการถูกกัดโดยหมัดซึ่งดูดเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
Alpha-Gal Syndrome โรคแพ้เนื้อแดงจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Alpha-Gal Syndrome คืออาการแพ้ที่เกิดจาการบริโภคเนื้อแดงจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2002 ระดับความรุนแรงของอาการมีตั้งแต่ ผิวหนังเป็นผื่น คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก ความดันต่ำ เวียนศีรษะ ท้องร่วง ปอดท้องรุนแรง
สาเหตุหลักเชื่อว่ามาจากการถูกกัดโดยแมลงดูดกินเลือด เช่น หมัด เมื่อตัวแมลงเหล่านี้ไปดูดเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมี Alpha-Gal (Galactose-α-1,3-galactose) โมเลกุลน้ำตาลคาร์โบไฮเดรตอยู่ในร่างกาย แมลงเหล่านี้จะกลายเป็นพาหะนำ Alpha-Gal มาสู่คน เมื่อถูกแมลงกัด Alpha-Gal ที่เข้าสู่ร่างกายจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสร้างแอนติบอดีเพื่อตอบสนองต่อโมเลกุลน้ำตาล Alpha-Gal
เมื่อมีการรับโมเลกุลน้ำตาล Alpha-Gal จากการกินเนื้อสัตว์ในภายหลัง จะก่อให้เกิดการแพ้จากอาการ Alpha-Gal Syndrome ในที่สุด
โมเลกุลน้ำตาล Alpha-Gal พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ยกเว้น ลิง วานร และมนุษย์ ผู้ป่วยที่มีอาการ Alpha-Gal Syndrome จึงไม่สามารถบริโภคเนื้อแดงหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เป็นต้น และสามารถกินได้แค่เนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อปลา และสัตว์ทะเลต่าง ๆ เท่านั้น
Alpha-Gal มีอยู่ในวัคซีนต่าง ๆ ยกเว้นวัคซีนโควิด-19
นักทฤษฎีสมคบคิดพยายามหาหลักฐานอ้างว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรค Alpha-Gal Syndrome โดยเชื่อมโยงข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ที่เตือนถึงส่วนประกอบของ Alpha-Gal ในวัคซีนหลายชนิด การพบหลักฐานผู้ฉีดวัคซีนโรคงูสวัดแล้วป่วยเป็นโรค Alpha-Gal Syndrome และอ้างว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้ป่วยเป็นโรคงูสวัด
อย่างไรก็ดี สำนักงานความปลอดภัยจากการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunization Safety Office) ของ CDC ชี้แจงว่า วัคซีนบางชนิดใช้เจลาตินเป็นสารให้ความคงตัวในวัคซีน ซึ่งมี Alpha-Gal เป็นส่วนประกอบ เช่น วัคซีนโรคงูสวัด
ดังนั้นผู้ป่วย Alpha-Gal Syndrome ที่ได้รับวัคซีนที่มี Alpha-Gal เป็นส่วนประกอบ จะเกิดอาการแพ้ได้
แต่ในวัคซีนโควิด-19 ที่อนุมัติในสหรัฐฯ ไม่มีส่วนประกอบจากเนื้อสัตว์หรือเจลาติน ทำให้วัคซีนโควิด-19 ไม่มี Alpha-Gal เป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงไม่ทำให้ป่วยเป็นโรค Alpha-Gal Syndrome หรือกระตุ้นให้ผู้ป่วย Alpha-Gal Syndrome เกิดอาการแพ้อย่างแน่นอน
ส่วนการป่วยเป็นโรคงูสวัด จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ป่วยมีเชื้อไวรัส Varicella-Zoster Virus (VZV) อยู่ในร่างกายจากการป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส จะไม่สามารถเป็นโรคงูสวัดได้
ส่วนข้อสันนิษฐานว่าวัคซีนโควิด-19 อาจไปกระตุ้นให้ผู้มีเชื้อไวรัส Varicella-Zoster Virus ในร่างกายเกิดอาการกำเริบจนป่วยเป็นโรคงูสวัด ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าเป็นจริงหรือไม่
ผู้ป่วย Alpha-Gal Syndrome เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ
ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ Mayo Clinic ระบุว่า ชาวอเมริกันที่ป่วยเป็นโรค Alpha-Gal Syndrome ส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกแมลงชนิดต่าง ๆ กัด โดยเฉพาะหมัดชนิด Lone Star tick ซึ่งคาดว่าแมลงเหล่านี้ได้รับโมเลกุลน้ำตาล Alpha-Gal จากการดูดเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อมากัดมนุษย์ โมเลกุลน้ำตาล Alpha-Gal ก็ส่งผ่านเข้าสู่ร่างกาย นำไปสู่การป่วยด้วยอาการ Alpha-Gal Syndrome
ข้อมูลจาก CDC พบว่า ระหว่างปี 2010-2022 มีชาวอเมริกันป่วยด้วยโรค Alpha-Gal Syndrome ประมาณ 450,000 ราย
มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ได้พิสูจน์ด้วยการนำตัวอย่างเซรุ่มจากเลือดของชาวเมือง 400 รายที่อาศัยอยู่ในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ซึ่งพบการแพร่ระบาดของโรค Alpha-Gal Syndrome อย่างสูง ทีมวิจัยได้ตรวจสอบเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับโรค Alpha-Gal Syndrome
โดยพบว่า หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ระดับแอติบอดีต่อโมเลกุลน้ำตาล Alpha-Gal ในร่างกายของผู้รับวัคซีนไม่เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด จึงสรุปได้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ใช่สาเหตุทำให้ผู้รับวัคซีนป่วยด้วยโรค Alpha-Gal Syndrome หรือก่อให้เกิดการแพ้เนื้อแดงจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่อย่างใด
ข้อมูลอ้างอิง :
https://science.feedback.org/review/why-alex-jones-claim-infowars-covid19-vaccines-cause-meat-allergy-is-baseless/
https://factcheck.afp.com/doc.afp.com.33RA3QC
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter