กทม. 14 ต.ค.-นักการตลาดขาโหด ออกมาเผยไต๋ โมเดลของธุรกิจดิไอคอนกรุ๊ป มีสินค้าคือ “คน” ด้านสมาคมขายตรงไทย ชวนตั้งข้อสังเกตธุรกิจขายตรง
อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย นักการตลาดขาโหด ออกมาเผยไต๋ โมเดลของธุรกิจดิไอคอนกรุ๊ป สรุปและ คือธุรกิจ ตลาดแบบตรง หรือขายตรงกันแน่ ถ้าเรามองว่า นี่คือธุรกิจขายตรง ในอดีตคือ การขายตรงชั้นเดียวคือ ขายแล้วได้คอมมิชชั่น กับขายตรงหลายชั้น คือขายสินค้าด้วย และต้องหาคนเข้าร่วมเป็นทีมด้วย
เราจะมาลงลึกที่ การขายตรงหลายชั้น Multi-Level Marketing หรือ MLM สินค้ามี 2 ตัว คือ
1.สินค้าที่เป็นสิ่งของ เช่น ของใช้ ยาสีฟัน อาหารเสริม
2.สินค้าที่คือคน คนก็เป็นสินค้า สมมติว่า เราเป็นตัวแทนจำหน่าย ถ้าอยากขึ้นไปเป็นตำแหน่งบนๆ ก็ต้องไปชวนคนเข้ามาเป็นดาวน์ไลน์ เมื่อดาวน์ไลน์ขายได้เยอะ เราก็จะขึ้นไปตำแหน่งที่สูงขึ้น ยิ่งตำแหน่งสูงขึ้น ผลตอบแทนก็จะสูงตาม
อ.ธันยวัชร์ นักการตลาดขาโหด บอกว่า การขายตรงหลายชั้น แบบที่บริษัทดังๆ ที่มาจากต่างประเทศเขาทำกันคือ ต้องมีสินค้าที่เป็นโปรดักส์แชมเปี้ยน คือสินค้าต้องขายด้วยตัวมันเอง ไม่ใช่ว่าเมื่อใช้แล้วถึงเวลาแล้วขายไม่ได้ เมื่อเราขึ้นไประดับบน ต้องสต็อกของ เมื่อขายไม่ได้ก็ทุนจม ต้องกู้เงินมา ดังนั้นบริษัทต้องมีจริยธรรมด้วย
แต่ดิไอคอน มาบูมสุดๆในช่วงโควิด บริษัทปิด อยู่บ้าน ทุกอย่างอยู่ในออนไลน์หมด เลยจูงใจเรียนการขายออนไลน์ในช่วงนั้นพอดี จากคอร์สราคาแพงๆ หลายพัน
อีกท่านที่คลุกคลีวงการขายตรงไทย นายพงศ์พสุ อุณาพรหม ตัวแทนอุปนายก ฝ่ายรัฐสัมพันธ์ สมาคมขายตรงไทย อธิบายเพิ่มว่า เราจะ เอ๊ะอย่างไรได้บ้าง?
นิยามทางกฎหมาย ขายตรงคือ การนำเสนอสินค้า ผ่านตัวแทนจำหน่าย ไปยังผู้บริโภค ในสถานที่ของผู้บริโภค ส่วนการตลาดแบบตรง คือการสื่อสารเรื่องราวของสินค้า ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งทีวี ออนไลน์ ดังนั้น
เอ๊ะที่ 1 ดูว่าคนที่ชวนให้เราซื้อของ ชวนซื้ออย่างเป็นธรรมชาติมั้ย หรือผิดธรรมชาติ
เอ๊ะที่ 2 ถ้าเขาจะชวนเรามาทำธุรกิจ ชวนเรามาขาย เราต้องลงทุนเยอะมั้ย ซึ่งขายตรงที่ถูกต้อง บริษัทจะลงทุนแทนสมาชิก บริษัทจะมีการเปิดสาขาทั่วประเทศและทำหน้าที่สตอกสินค้าแทนธุรกิจ ถ้าเป็นขายตรงที่ถูกต้อง นักธุรกิจจะไปขายปากเปล่า ขายได้ออเดอร์มาแล้วค่อยมาซื้อสินค้ากับบริษัท ดังนั้นความเสี่ยงเรื่องจมทุน หรือจมสตอกไม่มี แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ถูกต้องนัก เขาจะเน้นการขาย โดยผลักภาระให้ผู้จำหน่ายเป็นผู้รับผิดชอบสตอก ไม่ลงทุนเปิดสาขาให้ ไม่ลงทุนสตอกให้ เรียกว่าเป็นการขายให้ตัวแทน ไม่ได้เป็นการขายผ่านตัวแทน
แต่หน่วยงานที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดว่า ดิไอคอน เป็นธุรกิจ ตลาดแบบตรง หรือขายตรงกันแน่ ซึ่งคำตอบที่ สคบ.ให้ออกมาชัดเจนมาก
นายจิติภัทร์ บุญสม ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เปิดเผยว่า บริษัทดิ ไอคอน ได้รับการจดทะเบียนเมื่อปี 2562 ที่เป็นประเด็นข่าว เพราะมีกระบวนการขายแบบขายปลีก และสร้างเครือข่ายขายเป็นทอดๆ ขายสินค้าผ่านบุคคล ที่เป็นสมาชิกลงเป็นทอดๆ ไปถึงผู้บริโภค ปันผลรายได้จากการขายสินค้า กระทบยอด ย้อนขึ้นมาในลูกข่ายแม่ข่าย
ซึ่งก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2561 ทางบริษัท ยื่นถามว่าจะขอจดทะเบียน MLM ได้หรือไม่ แต่พบว่าไม่เป็นธุรกิจขายตรง เพราะไม่มีแผนการจ่ายผลตอบแทนที่เหมาะสม แต่เป็นรูปแบบขายปลีก ขายสินค้านั้นๆ จบไป แล้วไปหาส่วนต่างจากกำไร
พิจารณาแล้วไม่เข้าองค์ประกอบ จึงไม่รับจดทะเบียน และเมื่อปี 2562 ได้จดเป็น “ตลาดแบบตรงขายออนไลน์” อันนี้ผ่านแล้ว คือ มีสินค้าที่ขาย และซื้อผ่านเว็ปไซต์ของเขา
แต่ สคบ.พบว่าตั้งแต่สอบถามมา ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ก็ยังพบการขายในรูปแบบที่ผิดจากที่จดทะเบียนไว้ จึงมีหนังสือไปแจ้งยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ตร. เศรษฐกิจการคลัง ให้ช่วยกำกับดูแล
ทั้งนี้มีรายงาน “บอสพอล” จะเดินทางมาให้ปากคำ สคบ.วันที่ 16 ต.ค.นี้ และได้กำหนดให้ดาราเดินทางเข้ามาพบ สคบ.ด้วย ซึ่งมีคนมาร้อง สคบ.ตั้งแต่ปี 2562-2563 ประมาณ 20 กว่าราย.-สำนักข่าวไทย