17 ต.ค. – ตำรวจไซเบอร์ ระบุ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน หรือโยกเงินข้ามประเทศ เจ้าหน้าที่ตรวจจับยาก ข้อมูลเชิงลึกพบ 2 บอส นำเงินสดจากแม่ทีมไปแลกเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล หวังฟอกเงิน และซุกซ่อนเส้นทางการเงิน
พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ กล่าวถึงกรณี “สินทรัพย์ดิจิทัล” ว่ามี 2 ส่วนคือ crypto currency และ Token โดย crypto currency จะทำงานลักษณะบล็อกเชน โอนย้ายได้ เช่น cryptocurrency สกุล bitcoin ในประเทศที่ยอมรับสามารถใช้ซื้อสินค้าได้แทนเงินสด ไม่ต้องใช้ธนาคารรับฝาก โดยทุกคนที่ใช้สินทรัพย์ดิจิทัล สามารถเปิดกระเป๋าเงินในระบบออนไลน์ได้ สำหรับประเทศไทย จะมีกระดานเทรด 4-5 กระดาน ที่สามารถนำไปซื้อขายได้ ส่วน Token ยังนิยมใช้ในวงแคบๆ แต่ทำงานในลักษณะเดียวกัน คือ มีการโอนฝากเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล เช่นเดียวกัน
สำหรับ USDT คือ crypto currency ตัวหนึ่ง เจ้าของคือ ไบแนนซ์ มีเงื่อนไขชัดเจนที่ทางไบแนนซ์ กำหนด คือ 1 usdt = 1 US ดอลล่าสหรัฐ และผันผวนตามค่าเงินจริง ส่วนการทำงานจะใช้ระบบเดียวกับ bitcoin เช่นกัน สำหรับ usdt ประเทศไทยยังไม่ยอมรับ แต่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ที่จุดแลกเปลี่ยนเงินตราที่ได้รับอนุญาต และหากมีการประกาศแลกเปลี่ยน usdt นอกตลาด หรือนอกกระดานเทรด จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องทำการซื้อขายในกระดานเทรดเท่านั้น
พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ยังระบุว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพเกือบทั้งหมด จะโยกเงินที่ได้จากการหลอกลวง ไปเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล โดยใช้วิธีให้ม้าไปเปิดกระเป๋าเงินดิจิทัล จากนั้นนำเงินที่ได้จากการหลอกลวงเหยื่อไปซื้อ cryptocurrency ซื้อ usdt หรือซื้อ bitcoin แล้วโอนเงินไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ระบบสร้างขึ้นมา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เนื่องจากกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ระบบสร้างขึ้นมาจะปกปิดเจ้าของกระเป๋าเงินที่แท้จริง จะใช้ชื่อที่ระบบสร้างขึ้นมาเช่น xxyz จากนั้นมิจฉาชีพก็จะโอนเงินต่อไปเป็นทอดๆ รูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัล จึงถูกใช้เพื่อฟอกเงิน หรือโอนเงินข้ามประเทศ หรือขายในตลาดมืดโดยที่ไม่มีใครรู้จักใคร เนื่องจากไม่มีระบบจดบันทึกเหมือนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคาร
เช่น นายเอ ต้องการส่งเงินให้กับนายบี ก็จะนำเงินสดไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล เช่นซื้อ USDT จากนั้นโอน USDT ต่อไปให้นายบี หากนายบี ต้องการแปลงเป็นเงินสด ก็จะจ้างนายซี ซึ่งอาจเป็นคนที่อยู่ในต่างประเทศ หรือเป็นชาวต่างประเทศก็ได้ ให้ทำการเทรดแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด จากนั้นนายซี ก็จะโยกเงินสดกลับมาให้นายบี ซึ่งอาจจะอยู่ในประเทศไทย หรือนอกประเทศก็ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถตรวจสอบ หรือทราบได้เลยว่านายซีคือใคร วิธีนี้จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มวิชาชีพอย่างมากตอนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกับแหล่งข่าวกรณี 2 บอส ที่ถูกระบุว่า ทำหน้าที่นำเงินสดที่ได้จากแม่ทีม ไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล สกุล usdt พบว่า ทุกครั้งที่บอสทั้งสองจะซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลจะนัดชนมือกับคู่กรณีหน้าธนาคาร เพราะนอกจากบอสทั้ง 2 จะถือเงินสดมาเองแล้ว บางครั้งจะต้องถอนเงินจำนวนมากๆ จากแม่ทีมที่โอนมาจากต่างจังหวัด จึงต้องถอนเงินจากธนาคาร แล้วส่งต่อให้คู่กรณีที่นัดชนมือ เพื่อซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลทันที ในลักษณะจบกันที่หน้าธนาคารในวันนัดหมายเลย
ส่วนกลุ่มจีนเทาที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แหล่งข่าวระบุว่า เป็นกลุ่มจีนเทาที่ทำธุรกิจ Call Center และเว็บพนันออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน จะนัดชนมือเพื่อซื้อขายสินทรัพย์สกุลดิจิทัลกันตามตะเข็บชายแดน ซึ่งกลุ่มจีนเทา เมื่อได้เงินสดแล้วจะนำมาซื้อคอนโด หรือหมู่บ้าน ซึ่งจีนเทากลุ่มนี้ ยังมีธุรกิจสถานบันเทิงอยู่ที่ย่านรัชดาด้วย
สำหรับรายชื่อบุคคลที่ ปปง. มีคำสั่งอายัดทรัพย์ จำนวน 4 ราย ในกรณี ดิไอคอล กรุ๊ป จากการตรวจสอบ พบว่าชื่อที่ 1 และ 2 คือ บอสพอล คือ ชื่อเก่า และชื่อที่เปลี่ยนใหม่ในภายหลัง ส่วนหญิงสาวรายชื่อที่ 3 จากข้อมูลพบว่า มีชื่อเปิดบัญชีเงินฝากกับ “บอสพอล” เป็นเหตุให้ปรากฏชื่อถูกอายัดทรัพย์ ด้วย.-สำนักข่าวไทย