2 เม.ย. – ผู้ว่าฯ กทม. เผยเตรียมกู้ 5 ร่าง จาก 14 ร่างที่พบ ขนย้ายชิ้นส่วนอาคารแล้ว 100 ตัน ยันไม่ขีดเส้นตายหยุดช่วยเหลือ ปรับแผนเพิ่มการรื้อถอนด้วยเครื่องจักรหนักควบคู่ไปมากขึ้น
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม., นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงความคืบหน้าของปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารในโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ จตุจักร ถล่ม ขณะแผ่นดินไหว
นายชัชชาติ กล่าวว่า 5 วันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น เมื่อคืนใช้วิธีการยกชิ้นส่วนออกได้ 10 ชิ้น ประมาณ 100 ตัน เพื่อเปิดช่องว่างให้กู้ภัยได้ลงไปค้นหาทั้งคืนจนพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน โดยพบร่างตามปล่องต่าง ๆ 14 คน โดยได้กลิ่นอยู่แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้เพราะมีเศษเหล็กต่าง ๆ กีดขวางอยู่ เรื่องอุปสรรคการเข้าถึงยังเป็นปัญหาอยู่ และเริ่มปรับยุทธวิธีการเข้าถึงของเครนที่ยกน้ำหนักเบา โดยนำเครื่องจักรหนักเข้ามาเพื่อให้ถึงปล่องลิฟท์ทั้งฝั่งเหนือและฝั่งใต้ ปัจจุบันได้เข้าจากทางหลัง วันนี้ได้เริ่มลุยออกทางซ้ายและขวาโดยใช้รถแบล็คโฮเข้าไปก่อน โดยฝั่งซ้ายเข้าไปได้ 10 เมตร และอีก 10 เมตร จะถึงลิฟท์ ส่วนฝั่งขวาก็จะใกล้กว่า
นายชัชชาติ กล่าวว่า การดำเนินการมี 2 ขั้นตอน คือการช่วยชีวิตและการรื้อถอน ซึ่งทั้ง 2 อย่างสามารถทำควบคู่กันไปได้ โดยได้พูดคุยกับทีมงานมีรายงานว่าเพิ่งเจอผู้รอดชีวิตในเมียนมา ฉะนั้นยังมีโอกาสอยู่ แต่ต้องพูดตามจริงว่าโอกาสก็น้อยลง ทุกนาทีที่ผ่านไป เราไม่โกหกตัวเอง พยายามทำในมิติที่ทำได้ในเรื่องเครน จะเห็นว่าได้ถอนเครนออกไปในบางส่วนเพื่อนำเครื่องมือหนักเข้าไปแทน

นายชัชชาติ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับทีมกู้ภัยนานาชาติ ซึ่งทำมากว่ากว่า 40 ปีแล้ว เคสนี้เป็นเคสที่ซับซ้อนที่สุด เพราะเป็นอาคารคอนกรีตสูงถล่มลงมา ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาจไม่ถูกใจบางท่าน ก็ต้องขอโทษด้วย แต่เป็นการไตร่ตรองร่วมกันทุกทีมแล้ว การดำเนินการทุกอย่างทีมไทยเป็นผู้นำ โดยทีมนานาชาติที่มาร่วมก็สู้ยิบตาไม่แพ้คนไทยที่ช่วยคนไทยด้วยกันเอง เราประทับใจว่าแม้ไม่ใช่พลเมืองเขาก็ยังสู้ไม่ถ่อย เดินตลอดไม่ยอมหยุด ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้กัน และให้ทีมจิตวิทยาไปพูดคุยทำความเข้าใจกับทางญาติ เพราะได้นำเครื่องมือหนักเข้า ว่าไม่ได้หยุดการค้นหาแต่เป็นการเร่งเปิดทางให้เร็วขึ้นในจุดที่เราคาดหวัง
นายชัชชาติ กล่าวว่า การดำเนินการเป็นไปตามสถานการณ์ หากรื้อเข้าไปแล้วเจอโพรงและมีผู้มอนิเตอร์ว่าเจอคนหรือสัญญาณชีพหรือไม่ หากเจอก็จะหยุดและส่งทีมเข้าไป คนที่รื้อตึกมีความชำนาญ จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ มีจุดที่คาดหวังคือมีลิฟท์อยู่ตัวหนึ่งที่พาดลงมาที่พบสัญญาณ อีกจุดคือบันไดหนีไฟที่ยุบตัวอยู่ตรงกลาง โดยได้เริ่มทำงานตรงกลางระหว่างโซน A โซน B และโซน D ซึ่งมีลิฟท์อยู่ 2 ตัว
“เหตุการณ์นี้ไม่เคยมีใครเคยเจอในเมืองไทยเป็นเหตุการณ์ที่ซับซ้อน 72 ชั่วโมง เป็นไกด์ไลน์ของการอยู่รอด แต่ผู้อยู่รอด 5-7 วัน ก็มี ไม่ได้มีเส้นตายว่าจะต้องเป็น 72 ชั่วโมง ขอบคุณผู้ที่แนะนำ ส่วนเอาปูนออกจากร่างเอาร่างออกจากปูนเป็นแนวคิดของแต่ละคน แต่ผมก็ไม่เคยได้ยิน แต่ก็ต้องพยายามทำ ที่ผ่านมาพยายามเอาชิ้นส่วนออกเพื่อเข้าไปหาคน ทั้งนี้รับฟังคำติชมทุกอย่าง ตามทฤษฎีคงแยกไม่ได้ ชีวิตจริงต้องไปดูที่หน้างาน” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ก่อนจะเข้าไปหน้างานจะต้องมีการสรุปการทำงานกันก่อน เข้ากะละ 32 คน ทุกคนต้องมานับคนเข้า-ออก ทุกคนที่มาไม่มีปัญหา เชื่อว่าไม่ได้เป็นการดิสเครดิต คงเป็นความเห็นบริสุทธิ์ของท่าน เพื่อต้องการให้เราปรับปรุงให้ดีขึ้น หากสถานการณ์เรียบร้อยอาจจะต้องเชิญมาพูดคุยกัน ขณะนี้ยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤตที่ต้องรีบดำเนินการ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ ขณะนี้มีอุปกรณ์หนักในการรื้อถอน มีทีมรื้อถอน ทีมกู้ร่าง ทีมกู้ชีพ และ K-9 ซึ่งต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม
นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนเมื่อวานนี้มีกระบวนการที่จะต้องหยุดการทำงานระยะสั้นเพื่อเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน วันนี้พบแล้ว 14 ร่าง โดยพยายามจะกู้ร่างจากฝั่งขวาโซน C และ D จำนวน 5 ร่าง ส่วนประเด็นถกเถียงกันเรื่องภาพนิ่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่นั่งอยู่ริมระเบียงชั้น 5 ในพื้นที่กู้ภัยนั้น นายชัชชาติ มองเป็นเรื่องปกติของคนกินข้าวช่วงพักเที่ยง จึงไม่อยากให้มองเป็นดราม่า ยืนยันไม่เคยเข้าไปเป็นอุปสรรคในการทำงาน ยังต้องลุยงานต่อ ต้องคิดถึงคนที่ยังมีโอกาสรอดอยู่
“เชื่อว่ายังมีโอกาสอยู่ หากไปคิดว่ารอดหรือไม่รอดก็จะหมดกำลังใจ หากไม่มีความหวัง เชื่อคงไม่มีใครมาทำงานอาสาสมัคร ทุกคนมีความหวัง ชีวิตต้องดำเนินไปด้วยความหวัง เชื่อว่าที่ผ่านมาหากไม่มีตึกที่ถล่มนี้ กรุงเทพฯ ของเราก็แข็งแรงที่ทำให้เห็นว่ามาตรฐานเราดี” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ส่วนความกังวลที่อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะนั้น มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนยังกังวลอยู่ แต่เข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะตกใจกัน ทั้งนี้มีประชาชนแจ้งมาที่ทราฟฟี่ฟองดูว์ 17,000 เรื่อง ตรวจไปเกือบหมดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเคสเบา และมีอีกส่วนที่สั่งการให้เอกชนตรวจตึกตัวเอง อาคาร 9 ประเภท 12,000 อาคาร ที่ต้องตรวจรายปีอยู่แล้ว แต่ย้ำให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความมั่นใจ เริ่มทยอยส่งผลมาแล้ว โดยแล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์
ขณะที่กองอำนวยการร่วม (กอร.) สรุปความคืบหน้าเหตุอาคารกำลังก่อสร้าง สตง.ถล่ม ประจำวันที่ 2 เมษายน 2568 เวลา 14.00 น. ยอดผู้เสียชีวิต รวม 15 ราย เป็นชาย 8 หญิง 7 ราย ผู้บาดเจ็บ 9 ราย และอยู่ระหว่างติดตาม 72 ราย. -419- สำนักข่าวไทย