บ.ญี่ปุ่น 10 แห่งอาจโยงกับรัฐบาลทหารเมียนมา

โตเกียว 9 พ.ค.- สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ของญี่ปุ่นเผยรายงานการสอบสวนว่า บริษัทญี่ปุ่นอย่างน้อย 10 แห่งมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจโดยตรงกับบริษัทของรัฐบาลทหารเมียนมา หรือเข้าร่วมในโครงการที่เป็นแหล่งรายได้ให้รัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งนี้หลังจากเมียนมาเปลี่ยนถ่ายการปกครองให้รัฐบาลพลเรือนในปี 2554 มีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนราว 400 แห่ง โดยต้องเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทท้องถิ่นตามมาตรการจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศ บริษัทท้องถิ่นหลายแห่งเป็นบริษัทของกองทัพเมียนมา เกียวโดนิวส์เผยแพร่เรื่องนี้ เนื่องจากมีกระแสวิตกว่า เงินทุนและข้อตกลงทางธุรกิจของภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นอาจถูกรัฐบาลทหารเมียนมานำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่สหรัฐ ยุโรป และผู้ถือหุ้นเรียกร้องให้บริษัทญี่ปุ่นตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมา เกียวโดนิวส์ยกตัวอย่างคิรินโอลดิงส์ ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ว่า ลงทุนร่วมกับบริษัทเมียนมา 2 แห่งของเมียนมาอิโคโนมิกโฮลดิงส์ที่ถูกสหประชาชาติระบุว่าเป็นของนายทหารเมียนมา ขณะที่กลุ่มบริษัทที่ประกอบด้วยบรรษัทการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศเพื่อการพัฒนาการขนส่งและเขตเมืองแห่งญี่ปุ่น (JOIN) ฟูจิตะ และโตเกียวทาเทโมโนะจ่ายค่าเช่าที่ให้กระทรวงกลาโหมเมียนมาปีละกว่า 200 ล้านเยน (กว่า 57 ล้านบาท) ในโครงการพัฒนาพื้นที่ในนครย่างกุ้ง อีกทั้งโครงการนี้ยังได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ธนาคารมิซูโฮ และธนาคารซูมิโตโมมิตซุยแบงกิงคอร์ปอเรชัน รายงานของเกียวโดนิวส์ยังพูดถึงบริษัทก่อสร้าง บริษัทเครื่องจักรผลิตอาหาร บริษัทอัญมณีญี่ปุ่นว่าพัวพันกับบริษัทของรัฐบาลทหารเมียนมาด้วย.-สำนักข่าวไทย

ชาวเมียนมาวิจารณ์ข้อตกลงอาเซียน-เมียนมา

ย่างกุ้ง 25 เม.ย.- คนในเมียนมาวิจารณ์ข้อตกลงระหว่างผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมากับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเรื่องยุติวิกฤตในประเทศว่า ไม่มีเรื่องการฟื้นฟูประชาธิปไตยและการลงโทษกองทัพที่เข่นฆ่าผู้คนไปมากมาย ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งโพสต์ว่า แถลงการณ์ของอาเซียนเป็นการตบหน้าผู้คนที่ถูกกองทัพข่มเหง สังหาร และคุกคาม ชาวเมียนมาไม่ต้องการความช่วยเหลือที่มีวิธีคิดและแนวทางเช่นนี้ ชาวเมียนมาอีกคนแสดงความเห็นต่อข่าวอาเซียนและเมียนมาบรรลุข้อตกลง 5 ประเด็นด้วยฉันทามติในการประชุมที่อินโดนีเซียเมื่อวานนี้ว่า แถลงการณ์นี้ไม่ได้สะท้อนถึงความปรารถนาใด ๆ ของประชาชนเรื่องการปล่อยตัวนักโทษและผู้ถูกคุมขัง การรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิต การเคารพผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน และการฟื้นฟูรัฐบาลประชาธิปไตย ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ว่า ใครจะรับผิดชอบผู้บริสุทธิ์ 700 ชีวิต บรูไนในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบันออกแถลงการณ์หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนว่า ที่ประชุมบรรลุใน 5 ประเด็นด้วยฉันทามติ ประกอบด้วยการยุติความรุนแรง การเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การมีทูตพิเศษอาเซียนอำนวยความสะดวกให้แก่การเจรจา การยอมรับความช่วยเหลือ และการให้ทูตพิเศษอาเซียนไปเยือนเมียนมา ฉันทามติไม่มีเรื่องนักโทษทางการเมือง แต่แถลงการณ์ระบุว่า ที่ประชุมรับทราบเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนเหล่านี้.-สำนักข่าวไทย

อาเซียนเห็นพ้องแผนยุติวิกฤติเมียนมา

ผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เผยว่า เห็นพ้องกับแผนของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เรื่องยุติวิกฤติในเมียนมา

รบ.เอกภาพแห่งชาติเมียนมาเรียกร้องอาเซียนคุยด้วย

ย่างกุ้ง 18 เม.ย.- รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาหรือเอ็นยูจี (NUG) ที่ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารตั้งขึ้นเมื่อวันศุกร์ย้ำว่า เพื่อนบ้านเมียนมาต้องเจรจากับรัฐบาลชุดนี้ หากต้องการช่วยยุติวิกฤตที่เกิดจากรัฐประหาร และต้องไม่ยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมา นายโม จ่อ อู รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเอ็นยูจีให้สัมภาษณ์วิทยุเสียงอเมริกาหรือวีโอเอ (VOA) ภาคบริการภาษาเมียนมาที่เผยแพร่วันนี้ว่า หากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนกำลังคิดดำเนินการเกี่ยวกับเมียนมา ขอบอกว่าจะไม่ประสบความสำเร็จตราบใดที่ไม่เจรจากับเอ็นยูจี ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและมีความชอบธรรมอย่างสมบูรณ์ นานาชาติต้องไม่ให้การยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมา และจนถึงขณะนี้เอ็นยูจียังไม่ได้รับเชิญจากอาเซียนให้เข้าร่วมประชุมที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียแทน พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารเมียนมา นักการเมืองฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึง ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี (NLD) ของนางออง ซาน ซู จี ประกาศตั้งเอ็นยูจีเมื่อวันศุกร์ โดยตั้งให้นางซู จีที่ยังคงถูกคุมขัง แกนนำการประท้วง และแกนนำชนกลุ่มน้อยอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ทางการไทยประกาศเมื่อวานนี้ว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายจะเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาในวันที่ 24 เมษายนนี้ จะเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกและพบกับผู้นำต่างชาติครั้งแรก นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และมีผู้ถูกสังหารไปแล้วราว 730 คนตามข้อมูลของสมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมือง.-สำนักข่าวไทย

ทูตเมียนมาประจำUNวอนโลกเร่งดำเนินการจริงจัง

นิวยอร์ก 10 เม.ย.- เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) วอนนานาชาติเร่งดำเนินการอย่างจริงจังกับรัฐบาลทหาร ด้านสื่อเมียนมารายงานว่า กลุ่มชาติพันธุ์บุกสังหารตำรวจทางตะวันออกของประเทศ นายจ่อ โม ตุน เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำยูเอ็นเรียกร้องต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นหรือยูเอ็นเอสซี (UNSC) เมื่อวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า การดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจังคือสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ เวลามีความสำคัญมากสำหรับชาวเมียนมา ขอได้โปรดดำเนินการทันที เขาขอให้ยูเอ็นดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ประกาศเขตห้ามบิน ออกมาตรการคว่ำบาตรอาวุธ ออกมาตรการลงโทษอย่างเจาะจงกับสมาชิกกองทัพและครอบครัว ด้านนายริชาร์ด ฮอร์ซีย์ นักวิเคราะห์อิสระของอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ปเตือนยูเอ็นเอสซีว่า เมียนมาใกล้จะเป็นรัฐล้มเหลวแล้ว ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ไม่ต้องการการปกครองระบอบทหาร และจะทำทุกทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่กองทัพก็ยังคงมุ่งมั่นจะทำตามความต้องการ การกระทำของกองทัพอาจทำให้เมียนมากลายเป็นประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นเรื่องน่ากังวลใหญ่หลวงของภูมิภาคและประชาคมโลก ขณะเดียวกันสื่อเมียนมารายงานว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่จับมือกันหลายกลุ่มได้บุกสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในรัฐฉาน ทางตะวันออกของประเทศในเช้าวันนี้ มีตำรวจเสียชีวิต 10-14 นาย.-สำนักข่าวไทย

ชาวเมียนมาใช้ไข่อีสเตอร์ท้าทายรัฐบาลทหาร

ย่างกุ้ง 4 เม.ย.- ผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาใช้ไข่อีสเตอร์เป็นสัญลักษณ์การท้าทายในวันนี้ โดยโพสต์ภาพไข่ที่มีข้อความต่อต้านรัฐประหาร หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมามีการจุดเทียนไว้อาลัยผู้ถูกสังหารทั่วประเทศ ผู้ต่อต้านออกมาชุมนุมทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตามเมืองเล็ก ๆ และจุดเทียนไว้อาลัยตอนกลางคืน แม้ถูกทางการปราบปราม ขณะเดียวกันก็เพิ่มมาตรการอารยะขัดขืนด้วยการผละงานและมักแสดงความท้าทายอย่างสร้างสรรค์และฉับพลัน ล่าสุดใช้ไข่อีสเตอร์ ซึ่งเป็นการฉลองวันอีสเตอร์ของคริสตชนที่ตรงกับวันนี้มาเขียนข้อความต่อต้านแล้วโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น “เราต้องชนะ” “การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ” “มิน อ่อง หล่ายออกไป” สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองแจ้งว่า จำนวนผู้เสียชีวิตตั้งแต่กองทัพรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์เพิ่มเป็น 557 คนแล้ว และมีผู้ถูกควบคุมตัวรวม 2,658 คน ในจำนวนนี้มีสตรี 4 คน และชาย 1 คนที่ให้สัมภาษณ์นักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ในนครย่างกุ้งเมื่อสัปดาห์ก่อน ซีเอ็นเอ็นเผยว่า ทราบเรื่องนี้แล้วและกำลังกดดันรัฐบาลเมียนมาให้เปิดเผยข้อมูลรวมทั้งปล่อยตัวบุคคลเหล่านี้.-สำนักข่าวไทย

“กองทัพอาระกัน” หลุดจากบัญชีกลุ่มก่อการร้ายเมียนมา

รัฐบาลทหารเมียนมาถอดชื่อ “กองทัพอาระกัน” ออกจากบัญชีรายชื่อกลุ่มก่อการร้ายเนื่องจากกลุ่มดังกล่าวหยุดก่อเหตุโจมตีและเพื่อฃ่วยให้เกิดสันติภาพทั่วประเทศ

กลุ่มธุรกิจวิจารณ์ร่าง ก.ม.ไซเบอร์เมียนมา

ย่างกุ้ง 13 ก.พ.- กลุ่มธุรกิจ 50 รายในเมียนมาวิจารณ์ร่างกฎหมายไซเบอร์ฉบับใหม่ที่รัฐบาลทหารเมียนมาเสนอว่า เป็นการแทรกแซงสิทธิมนุษยชน ละเมิดความเป็นส่วนตัวทางข้อมูล และจำกัดการสร้างสรรค์นวัตกรรม กลุ่มธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทคโนโลยีออกแถลงการณ์ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีมาตราปลายเปิดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จำกัดสิทธิการสร้างนวัตกรรมในภาคธุรกิจ ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาคอื่น ๆ รอยเตอร์รายงานอ้างสำเนาร่างกฎหมายว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสาธารณชน ป้องกันการก่ออาชญากรรมและการทำอันตรายต่อรัฐ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะต้องสกัดหรือลบเนื้อหาที่เห็นว่าสร้างความเกลียดชัง ทำลายความสามัคคี และความสงบสุข เนื้อหาที่เป็นข่าวเท็จหรือข่าวลือหรือไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมเมียนมา ก่อนหน้านี้องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 160 แห่งและพันธมิตรอินเทอร์เน็ตเอเชียที่มีแอปเปิล เฟซบุ๊ก กูเกิล และแอมะซอนเป็นสมาชิก ได้วิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ ตามที่ทางการส่งหนังสือเวียนไปยังบริษัทโทรคมนาคมในสัปดาห์นี้ หลังจากกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รัฐบาลยังได้ห้ามการเข้าถึงเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่กลายเป็นช่องทางวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่สามารถหยุดยั้งกระแสประท้วงต่อต้านได้.-สำนักข่าวไทย

ชาวเมียนมานับหมื่นคนเรียกร้องรัฐบาลคืนอำนาจให้ “ซูจี”

ชาวเมียนมาในจังหวัดเกาะสอง นับหมื่นคน รวมตัวแสดงพลังที่ท่าเทียบเรือเกาะสอง-ระนอง เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาคืนอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี

เมียนมาร์ยกเลิกบางมาตราในกฎหมายค้นบ้านเที่ยงคืน

รัฐสภาเมียนมาร์ลงมติยกเลิกมาตราที่เป็นประเด็นถกเถียงในกฎหมายที่อนุญาตให้ตำรวจตรวจค้นแขกที่มาพักบ้านประชาชนยามเที่ยงคืน หลังจากใช้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหาร

1 3 4 5
...