เมียนมาออกกฎเข้มกับฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้าน

ย่างกุ้ง 3 ก.พ.- รัฐบาลทหารเมียนมาออกมาตรการเข้มงวดครั้งใหม่กับพื้นที่ที่เป็นฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้าน ด้วยการกำหนดให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านี้จะต้องขึ้นศาลทหาร หากถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏและเผยแพร่ข่าวเท็จ หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาของทางการเมียนมารายงานวันนี้ว่า มาตรการใหม่ใช้กับ 37 เมืองใน 8 รัฐและภูมิภาคประกอบด้วยรัฐชิน มอญ กะหรี่ยง และกะยา ภูมิภาคสะกาย มะเกว พะโค และตะนาวศรี ศาลทหารจะทำหน้าที่พิจารณาคดีอาญาตั้งแต่การเป็นกบฏไปจนถึงการเผยแพร่ข่าวเท็จ ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดจะไม่ได้รับอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ ยกเว้นคดีที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจาก พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร รายงานระบุว่า มาตรการนี้เป็นไปเพื่อให้ความมั่นคง การใช้หลักนิติธรรม ความสงบสุขของท้องถิ่นได้รับการปกป้องอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เอเอฟพีระบุว่า กองทัพเมียนมามักปะทะกับกองกำลังปกป้องประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารและเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ ก่อนหน้านี้มี 11 เมืองอยู่ภายใต้มาตรการลักษณะเดียวกันนี้แล้ว เป็นเมืองในภูมิภาคย่างกุ้ง 6 เมือง และในภูมิภาคมัณฑะเลย์ 5 เมือง เมื่อวานนี้รัฐบาลเมียนมาเพิ่งขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 6 เดือน ซึ่งเป็นวันครบ 2 ปีของการรัฐประหาร ทำให้กำหนดการเลือกตั้งที่รัฐบาลรับปากว่าจะมีขึ้นภายในเดือนสิงหาคมถูกเลื่อนออกไปอีก สื่อทางการเมียนมารายงานเมื่อวันพุธว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายยอมรับว่า เมืองต่าง ๆ […]

สหรัฐประณามเมียนมาขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

วอชิงตัน 2 ก.พ.- สหรัฐประณามรัฐบาลทหารเมียนมาที่ขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ทำให้ความทุกข์ยากตลอด 2 ปีที่ผ่านมายืดเยื้อต่อไปอีก นับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐแถลงว่า สหรัฐคัดค้านอย่างยิ่งต่อการที่รัฐบาลทหารพม่า (เป็นชื่อที่สหรัฐใช้เรียกเมียนมา) ตัดสินใจขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้การปกครองไม่ชอบธรรมและความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับประเทศยืดเยื้อต่อไปอีก สหรัฐมุ่งมั่นที่จะร่วมกับประเทศอื่นไม่ยอมรับความน่าเชื่อในระดับสากลของรัฐบาลนี้ โฆษกสหรัฐยังได้ประณามสิ่งที่รัฐบาลทหารเรียกว่าการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งแบบนั้นจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพ และจะไม่ใช่การเลือกตัวแทนของประชาชนในประเทศ สหรัฐแสดงท่าทีดังกล่าวหลังจากรัฐบาลทหารเมียนมาแถลงในวันครบ 2 ปีของการรัฐประหารว่า จะขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน เท่ากับทำให้กำหนดการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอีกภายใต้ระเบียบรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกันสหรัฐได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัฐมนตรีพลังงานและผู้บริหารบริษัทน้ำมันของเมียนมาเพื่อเพิ่มการกดดัน.-สำนักข่าวไทย

ครบรอบ 2 ปีรัฐประหารในเมียนมา-จับตาแผนจัดเลือกตั้ง

บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา เรียกร้องให้บรรดาบริษัทธุรกิจต่าง ๆ หยุดทำงานทั่วประเทศในวันนี้ เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 2 ปี ในวันนี้ที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือน

สหรัฐคว่ำบาตรเมียนมาเพิ่มเติมในวาระครบ 2 ปีรัฐประหาร

สหรัฐประกาศใช้มาตรการลงโทษเมียนมาเพิ่มเติมเมื่อวานนี้ เพียง 1 วันก่อนครบวาระ 2 ปี ของการก่อรัฐประหารในเมียนมาในวันนี้

หลายฝ่ายเกรงเมียนมาเตรียมเลือกตั้งจะยิ่งนองเลือด

รัฐบาลทหารเมียนมาเตรียมจัดการเลือกตั้งหลังจากรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่หลายฝ่ายเกรงว่าการเลือกตั้งอาจทำให้เกิดการนองเลือดยิ่งขึ้นไปอีก เพราะยังมีกระแสต่อต้านรัฐบาลทหารอยู่มาก

นักโทษเจ็บ-ตายจากเหตุจลาจลที่เรือนจำในเมียนมา

รัฐบาลทหารเมียนมาแจ้งวันนี้ว่า มีนักโทษเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บมากกว่า 60 คน หลังเกิดเหตุจลาจลที่เรือนจำทางตะวันตกของนครย่างกุ้ง

นักข่าวที่เมียนมานิรโทษกรรมขอให้ญี่ปุ่นกดดันเมียนมา

โตเกียว 28 พ.ย.- นักข่าวชาวญี่ปุ่นที่ได้รับนิรโทษกรรมจากเมียนมาเมื่อกลางเดือนนี้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มการกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา และรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา นายโทรุ คุโบตะ ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดี วัย 26 ปี แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียวในวันนี้ เรียกร้องให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้บริจาคและผู้ลงทุนรายใหญ่ของเมียนมามานาน ดำเนินแนวทางเชิงรุกอย่างจริงจังต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาและวิพากษ์วิจารณ์เมียนมาในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ญี่ปุ่นควรตรวจสอบอย่างเคร่งครัดว่า เงินทุนของญี่ปุ่นถูกกองทัพเมียนมานำไปใช้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกนำไปเข่นฆ่าผู้คนหรือไม่ เขายังขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเพิ่มขึ้นด้วย ญี่ปุ่นเป็นรัฐผู้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ แต่รับผู้ลี้ภัยเพียงจำนวนหนึ่งในแต่ละปี คุโบตะกล่าวถึงช่วงเวลาที่ถูกขังเดี่ยวที่เรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้งของเมียนมาว่า ราวกับอยู่ในนรก การที่เขาได้รับการปล่อยตัวพร้อมกับผู้ต้องขังอีกเกือบ 6,000 คน เป็นเพียงเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ เพราะยังมีคนอีก 12,000 คนถูกควบคุมตัวอย่างไม่สมควร คุโบตะถูกทางการเมียนมาควบคุมตัวพร้อมกับพลเมืองชาวเมียนมา 2 คน ขณะอยู่ใกล้การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในนครย่างกุ้งเมื่อเดือนกรกฎาคม เขาถูกตัดสินจำคุก 7 ปีข้อหาบันทึกภาพการประท้วง และจำคุก 3 ปีข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายเข้าเมือง โดยเพิ่งได้รับนิรโทษกรรมพร้อมกับผู้ต้องขังอีกหลายคนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน เนื่องในวันแห่งชาติ (National Day) รวมถูกควบคุมตัวนาน 3 เดือนครึ่ง ญี่ปุ่นประกาศหลังจากกองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า จะระงับโครงการความช่วยเหลือใหม่ทุกโครงการ แต่ไม่กระทบโครงการที่มีอยู่แล้ว […]

วิจารณ์ญี่ปุ่นเชิญเมียนมาร่วมรัฐพิธีศพอาเบะ

โตเกียว 25 ก.ย.- อดีตนักการทูตเมียนมาที่ถูกรัฐบาลไล่ออก วิจารณ์ญี่ปุ่นที่เชิญเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำญี่ปุ่นเข้าร่วมรัฐพิธีศพของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะในวันที่ 27 กันยายนนี้ นายอ่อง โซ โม ถูกกระทรวงต่างประเทศเมียนมาไล่ออกจากตำแหน่งเลขานุการเอกในสถานทูตเมียนมาประจำญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เนื่องจากเข้าร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืนต่อต้านรัฐบาลทหาร นับจากนั้นก็อุทิศตัวให้แก่การเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานว่า นายอ่อง โซ โมให้สัมภาษณ์สื่อในญี่ปุ่นเมื่อวันเสาร์ว่า เขาและนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ ไม่เข้าใจว่า เหตุใดนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะจึงเชิญตัวแทนของระบอบที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนซึ่งมีทั้งเด็กและผู้หญิง ไปร่วมรัฐพิธีศพของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเช่นเดียวกัน ต่อข้อถามว่าเขาคิดว่าญี่ปุ่นควรเชิญตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือเอ็นยูจี (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมาไปร่วมรัฐพิธีศพแทนหรือไม่ นายอ่อง โซ โมตอบว่า ชาวเมียนมาหลายคนคิดเช่นนั้น ส่วนตัวเขาคิดว่าญี่ปุ่นควรทำตามอังกฤษที่ไม่เชิญตัวแทนเมียนมาเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการที่ญี่ปุ่นปล่อยให้ผู้ที่ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนชาวเมียนมาเข้าร่วมรัฐพิธีศพในวันอังคารนี้ และอยากให้ญี่ปุ่นตัดความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมาโดยทันที เกียวโดนิวส์ระบุว่า แม้รัฐบาลญี่ปุ่นประณามการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และขอให้รัฐบาลทหารเมียนมาถอยหลังกลับไป แต่ก็ยังไม่รับรองเอ็นยูจีให้เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของเมียนมา กลุ่มนี้ตั้งขึ้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน เป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกรัฐสภาที่ถูกปลด ผู้ประท้วง และแกนนำชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านการปกครองของกองทัพ.-สำนักข่าวไทย

“มิน อ่อง หล่าย” ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว

กรุงเทพฯ 1 ส.ค.- พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ต่ออายุอำนาจการปกครองออกไปอีก 6 เดือน ด้วยการขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งที่ระบุว่าจะจัดขึ้นในปีหน้า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ปราศรัยทางโทรทัศน์ในวันนี้ว่า ได้ขยายสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศเมื่อปีก่อนหลังยึดอำนาจ เนื่องจากต้องการเวลาในการเดินหน้าการทำงานเพื่อนำประเทศกลับสู่เส้นทางระบอบประชาธิปไตยที่สันติและแบบหลายพรรคที่มีวินัย และเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปแบบประชาธิปไตยหลายพรรค กองทัพได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบตั้งแต่ยึดอำนาจ แต่กลุ่มก่อการร้ายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผู้คนและองค์กรที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายมุ่งมั่นที่จะทำลายเมียนมา แทนที่จะช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยในเมียนมา พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายกล่าวว่า ความขัดแย้งทางอาวุธจะต้องยุติเพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจะไม่มีการข่มขู่คุกคามหรือความไม่เป็นธรรม หน่วยงานความมั่นคงจะเร่งดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงของประเทศเพื่อให้เมียนมาสามารถจัดการเลือกตั้งได้ เอพีตั้งข้อสังเกตว่า คำปราศรัยของผู้นำสูงสุดเมียนมาเรื่องการยุติความขัดแย้งทางอาวุธดูเหมือนจะหมายถึงปฏิบัติการทางทหารที่รัฐบาลใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย เดิมกองทัพเมียนมาประกาศว่า จะจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปีหลังการยึดอำนาจในปี 2564 แต่ต่อมาประกาศว่า จะจัดการเลือกตั้งในปี 2566.-สำนักข่าวไทย

เผยชาวญี่ปุ่นถูกจับในเมียนมาเพราะบันทึกภาพประท้วง

กรุงเทพฯ 1 ส.ค.- นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเผยว่า ชายชาวญี่ปุ่นถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเมียนมาควบคุมตัวเพราะบันทึกภาพการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในนครย่างกุ้ง แกนนำกลุ่มเยาวชนประชาธิปไตยโต้กลับย่างกุ้ง ซึ่งจัดการประท้วงแบบฉับพลันในนครย่างกุ้งเมื่อวันเสาร์เผยว่า นายโทรุ คูโบตะ ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบควบคุมตัวหลังการประท้วง นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุม 2 คนถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจด้วย ส่วนภาพนายคูโบตะถือป้ายประท้วงที่บัญชีของกลุ่มสนับสนุนกองทัพเมียนมาโพสต์ในแอปพลิเคชันเทเลแกรมแล้วอ้างว่า ไม่ได้ถูกจับเพราะบันทึกภาพ แต่ถูกจับเพราะร่วมประท้วงนั้น แกนนำกลุ่มประท้วงชี้ว่า ภาพถ่ายหลังจากนายคูโบตะถูกจับกุมแล้ว บ่งชี้ว่าเป็นภาพบังคับจัดฉาก เจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นที่ขอสงวนนามเผยว่า มีข่าวชาวญี่ปุ่นถูกควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำที่สถานีตำรวจในนครย่างกุ้ง ทางสถานทูตกำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่ ขณะที่รัฐบาลเมียนมายังไม่ประกาศเรื่องการจับกุมนายคูโบตะ และสื่อทางการเมียนมาที่มักรายงานข่าวการจับกุมผู้ประท้วงก็ไม่รายงานเรื่องนี้ ข้อมูลตามเว็บไซต์ประวัติการทำงานของคูโบตะระบุว่า งานของเขาเน้นประเด็นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ คนเข้าเมือง และผู้อพยพ  โดยพยายามหยิบยกเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนที่ถูกทำให้ไร้ความสำคัญและด้อยโอกาส เขาทำงานให้แก่บริษัทสื่ออย่างยาฮูนิวส์เจแปน ไวซ์เจแปน และอัลจาซีราห์ภาษาอังกฤษ.-สำนักข่าวไทย

“มิน อ่อง หล่าย” จะขยายสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 6 เดือน

เนปิดอว์ 1 ส.ค.- สื่อทางการเมียนมารายงานว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมาจะขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน โดยที่สภาความมั่นคงและกลาโหมได้ให้ความเห็นชอบแล้ว หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมารายงานว่า สมาชิกสภาความมั่นคงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อข้อเสนอขยายระยะเวลาของการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน พร้อมกับอ้างคำกล่าวของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายว่า เมียนมาต้องเดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงแบบหลายพรรคที่มีวินัย ซึ่งเป็นความปรารถนาของประชาชน รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรก หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยอ้างเรื่องมีการโกงเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่พรรคของนางซู จีชนะเลือกตั้ง เมียนมาได้ตกอยู่ในความวุ่นวายตั้งแต่นั้น เนื่องจากกองทัพใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงตามเมืองต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่ชุมนุมอย่างสันติ กองทัพเมียนมารับปากจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนสิงหาคม 2566.-สำนักข่าวไทย

เมียนมาจับชาวญี่ปุ่นร่วมประท้วงในย่างกุ้ง

ย่างกุ้ง 31 ก.ค.- สื่อเมียนมารายงานว่า ตำรวจเมียนมาได้ควบคุมตัวชายชาวญี่ปุ่นที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในนครย่างกุ้ง เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์อ้างรายงานของสื่อเมียนมาว่า ชายคนนี้อยู่กับกลุ่มผู้ประท้วงในเขตดาโกงใต้ และถูกควบคุมตัวพร้อมกับชาวเมียนมา 2 คน ตำรวจได้ยึดข้าวของของพวกเขา รวมทั้งกล้องถ่ายรูป ด้านสถานทูตญี่ปุ่นในเมียนมาแจ้งว่า ได้ขอให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวชายคนนนี้ ซึ่งอยู่ในวัย 20 ปีเศษ และถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจในนครย่างกุ้ง แต่ไม่ได้ยืนยันว่าเขาคือ นายโทรุ คูโบตะ ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีตามที่มีรายงานระบุหรือไม่ เกียวโดนิวส์รายงานเพิ่มเติมว่า เมียนมาเคยควบคุมตัวผู้สื่อข่าวอิสระชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งในเดือนเมษายน 2564 และดำเนินคดีข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และฝ่าฝืนข้อกำหนดวีซ่า เขาได้รับการปล่อยตัวในเดือนต่อมาตามคำขอของรัฐบาลญี่ปุ่นและคนกลางหลายฝ่าย.-สำนักข่าวไทย

1 2 3 4 5
...