เนปิดอว์ 31 ม.ค. – รัฐบาลทหารเมียนมาเตรียมจัดการเลือกตั้งหลังจากรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่หลายฝ่ายเกรงว่าการเลือกตั้งอาจทำให้เกิดการนองเลือดยิ่งขึ้นไปอีก เพราะยังมีกระแสต่อต้านรัฐบาลทหารอยู่มาก
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลทหารประกาศใช้หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จะหมดอายุในวันที่ 31 มกราคมนี้ หลังจากนี้ทางการจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อย่างไรก็ดี รัฐบาลของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ยังไม่กำหนดวันเลือกตั้ง หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้อนุญาตให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ปัจจุบันและพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคตไปขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 2 เดือน คณะเจรจาของกองทัพกำลังแบ่งเขตเลือกตั้งให้มีขนาดใหญ่มากเพียงพอเพื่อให้การเลือกตั้งดูน่าเชื่อถือ โดยได้รวมกลุ่มชาติพันธุ์และพรรคการเมืองท้องถิ่นที่ไม่เข้าร่วมกับการประท้วงต่อต้านรัฐประหารไว้ในเขตเลือกตั้งด้วย
สมาชิกกลุ่มกองกำลังปกป้องแห่งประชาชนที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศว่า การเลือกตั้งจะไม่มีผลต่อภารกิจขับไล่กองทัพให้พ้นจากการเมืองของประเทศ และจะไม่วางอาวุธจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่นางโนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษเรื่องเมียนมาของสหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) แถลงวันนี้ว่า การเลือกตั้งที่จัดขึ้นโดยกองทัพเมียนมาจะยิ่งโหมกระพือความรุนแรง ทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อ และทำให้การกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและความมีเสถียรภาพเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนเมื่อวานนี้โฆษกของนายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า นายกูเตอร์เรสกังวลอย่างยิ่งหลังจากกองทัพเมียนมาแสดงเจตนาที่จะจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่ยังมีการจับกุม คุกคาม ข่มขู่ แกนนำทางการเมือง ผู้นำภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน
ด้านนักวิชาการชาวเมียนมาในออสเตรเลียมองว่า หลายพื้นที่ในเมียนมาน่าจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ส่วนพื้นที่ที่จะจัดได้คือพื้นที่ที่กองทัพควบคุมอยู่และสามารถบังคับประชาชนให้ออกไปลงคะแนนให้แก่พรรคของรัฐบาลทหาร ขณะเดียวกันกลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหารได้ข่มขู่ผู้ที่ให้ความร่วมมือกับการเลือกตั้ง เพราะมีข่าวว่าคณะทำงานตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในนนครย่างกุ้งถูกปองร้ายหลายครั้ง.-สำนักข่าวไทย