เมียนมาโต้รายงานยูเอ็นเรื่องได้เงินและอาวุธจากต่างชาติ

ธนาคารกลางแห่งเมียนมา ปฏิเสธรายงานของสหประชาชาติหรือยูเอ็น เรื่องรัฐบาลทหารเมียนมายังคงเข้าถึงเงินและอาวุธจากบางประเทศ สำหรับทำสงครามกับกลุ่มต่อต้านการรัฐประหาร

เผยกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมายึดพื้นที่ได้เพิ่มมากขึ้น

เนปิดอว์ 30 พ.ค.- รายงานของกลุ่มนานาชาติ 2 กลุ่มระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาเสียการควบคุมพื้นที่เป็นวงกว้าง รวมถึงการเข้าถึงพรมแดนระหว่างประเทศ เปิดทางให้กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มแผ่อิทธิพลควบคุมพื้นที่ได้มากขึ้น คณะกรรมการที่ปรึกษาพิเศษเพื่อเมียนมา (SAC-M) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติที่รวมตัวกันรายงานและวิเคราะห์สถานการณ์ในมียนมาหลังการรัฐประหารปี 2564 ออกรายงานประเมินในวันนี้ว่า รัฐบาลเมียนมาสูญเสียการควบคุมเมืองต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 86 ของพื้นที่ทั้งประเทศ และเป็นที่อาศัยของประชากรร้อยละ 67 ของประชากรทั้งประเทศ 55 ล้านคน โดยได้ละทิ้งพื้นที่สำคัญและถูกบีบให้ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับในพื้นที่ที่รัฐบาลยังควบคุมอยู่ในเวลานี้ ขณะเดียวกันไครซิสกรุ๊ป ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรออกรายงานประเมินว่า กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่มีชัยชนะทางทหารหลายครั้งกำลังรวบรวมการควบคุมพื้นที่ที่แผ่ขยายกว้างขึ้น และหลายกลุ่มกำลังเดินหน้าไปสู่การตั้งรัฐปกครองตนเอง การที่กองทัพสูญเสียพื้นที่มากขึ้นและกลุ่มผู้ปกครองชนชั้นนำไม่พอใจมากขึ้นได้ทำให้อนาคตทางการเมืองของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำคนปัจจุบันตกอยู่ในความไม่แน่นอน แม้ว่าเขาได้ตั้งเจ้าหน้าที่ที่จงรักภักดีให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงก็ตาม รายงานของทั้ง 2 กลุ่มนี้เสนอแนะว่า เนื่องจากรัฐบาลเมียนมากำลังสูญเสียการควบคุมพรมแดนเกือบทั้งหมดของประเทศ และองค์การการปกครองที่ไม่ใช่รัฐมีแนวโน้มจะแผ่ขยายมากขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา กลุ่มระดับภูมิภาค และประชาคมโลกจึงควรเพิ่มการติดต่อประสานงานกับกลุ่มต่อต้านและภาคประชาสังคม เพื่อเร่งจัดส่งความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนชาวเมียนมา ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า มีชาวเมียนมากลายเป็นคนพลัดถิ่นในประเทศมากเป็นประวัติการณ์ คนกว่า 3 ล้านคนต้องอพยพเพราะการสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้น.-814.-สำนักข่าวไทย

ชี้เมียนมายังสามารถโต้กลับฝ่ายต่อต้านได้

เบอร์ลิน 20 เม.ย.- สื่อใหญ่ในเยอรมนีรายงานความเห็นของนักวิเคราะห์ว่า รัฐบาลทหารเมียนมากำลังต่อสู้อย่างหนักเพื่อความอยู่รอด แต่ก็ยังคงสามารถระดมสรรพกำลังในการตอบโต้ฝ่ายต่อต้านอย่างหนักหน่วงได้ เว็บไซต์ดีดับเบิลยู (DW) ซึ่งเป็นสื่อระดับโลกของเยอรมนีอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนว่า กองทัพเมียนมากำลังอยู่ในภาวะตึงตัวอย่างยิ่งและพ่ายแพ้ในศึกหลายด้านทั่วประเทศ หลังจากเสียเมืองเมียวดีที่เป็นเมืองพรมแดนสำคัญให้แก่กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (KNU) ซึ่งจับมือกับกลุ่มต่อต้าน เป็นการสูญเสียทางสัญลักษณ์จากการที่ทหารกว่า 600 นายและครอบครัวยอมจำนนโดยดี และสูญเสียทางเศรษฐกิจเพราะเป็นเมืองการค้ากับไทยที่มีการค้าขายสินค้ามูลค่าปีละหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซาชารี อาบูซา นักวิชาการของวิทยาลัยสงครามแห่งชาติในสหรัฐที่ศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่า กองกำลังฝ่ายต่อต้านที่กำลังสู้รบกับกองทัพเมียนมาใน 8 พื้นที่ไม่มีกลุ่มใดแข็งแกร่งหรือซับซ้อนเป็นพิเศษ เพียงแต่กองทัพเมียนมาตึงตัวจนไม่สามารถแบ่งกำลังพลไปเอาชนะได้ ด้านเดวิด สกอตต์ มาเธียสัน นักวิเคราะห์อิสระมองว่า เมียนมามีพื้นที่กว้างใหญ่มากพอที่จะให้กองทัพล่าถอย ประกอบกับกองทัพมีเครือข่ายฐานที่มั่นและการผลิตอาวุธ การเสียดินแดนจึงยังไม่ได้หมายความว่ากองทัพพ่ายแพ้ ขณะที่โฆษกของเคเอ็นยูเองยอมรับว่า กังวลว่ากองทัพจะตอบโต้อย่างหนัก เพราะที่ผ่านมากองทัพมักใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงเมื่อเสียดินแดน ขณะนี้กองกำลังภายใต้การควบคุมของสภาบริหารแห่งรัฐหรือเอสเอซี (SAC) ที่กองทัพเมียนมาตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2564 กำลังถูกกลุ่มต่อต้านกดดันจนต้องล่าถอยในหลายรัฐทั้งกะฉิ่น ยะไข่ กะยา และฉาน นับจากกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 กลุ่มจับมือกันตั้งพันธมิตร 3 ภราดรภาพ เปิดฉากปฏิบัติการ1027 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ยึดได้ที่ตั้งทางทหารและเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉาน.-814.-สำนักข่าวไทย

คนในฝั่งเมียวดีเข้าแถวยาวเหยียดเข้าไทย

เมียวดี 11 เม.ย.- ประชาชนจำนวนมากในฝั่งเมืองเมียวดีของเมียนมาเข้าแถวยาวเหยียด เดินทางเข้าไทยผ่านด่านแม่สอดของจังหวัดตากในวันนี้ ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์รายงานจากด่านแม่สอดว่า เห็นชาวเมียนมาเข้าแถวรอในฝั่งเมียวดี ขณะที่ฝั่งไทยมีทหารคอยตรวจสัมภาระผู้เดินทางเข้ามา ชายชาวเมียนมาคนหนึ่งที่ขนสัมภาระมาเป็นจำนวนมากยอมรับว่า มีความกังวล ขณะนี้สถานการณ์ในเมียวดียังไม่เป็นไร แต่ถ้าไกลออกไปข้างนอกยังมีการยิงกันอยู่ ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกันโฆษกกลุ่มติดอาวุธและสื่อท้องถิ่นรายงานว่า ทหารเมียนมาประมาณ 200 นายได้ล่าถอยไปยังสะพานที่เชื่อมเมืองเมียวดีกับอำเภอแม่สอดในวันนี้ หลังจากถูกกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาโจมตีอย่างหนักมาหลายวัน รอยเตอร์อ้างเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตากว่า ปกติแล้วมีคนข้ามจากเมียวดีเข้ามาทางแม่สอดวันละ 2,000 คน แต่ในช่วง 3 วันที่ผ่านมาตัวเลขเพิ่มเป็นวันละเกือบ 4,000 คน รอยเตอร์รายงานด้วยว่า กองทัพไทยได้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยตามแนวพรมแดน ด้วยการประจำการยานหุ้มเกราะติดปืนกล.-814.-สำนักข่าวไทย

เมียนมาตำหนิยูเอ็นกล่าวหาเรื่องสิทธิมนุษยชนข้างเดียว

ย่างกุ้ง 9 เม.ย.- รัฐบาลทหารเมียนมาตำหนิสหประชาชาติหรือยูเอ็นในวันนี้ว่า กล่าวหาเพียงข้างเดียวเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา และไม่ได้แจ้งให้เมียนมาทราบอย่างเป็นทางการเรื่องแต่งตั้งทูตพิเศษยูเอ็นด้านเมียนมาคนใหม่ หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาของทางการเมียนมารายงานวันนี้อ้างแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศว่า มติของสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติหรือโอเอชซีเอชอาร์ (OHCHR) เป็นการกล่าวหาที่ไร้มูลและกล่าวหาเพียงข้างเดียว ดังนั้นเมียนมาจึงไม่ยอมรับมตินี้อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ยูเอ็นยังไม่สื่อสารอย่างเป็นทางการกับเมียนมาเรื่องแต่งตั้งทูตพิเศษยูเอ็นด้านเมียนมาคนใหม่เมื่อสัปดาห์ก่อน โอเอชซีเอชอาร์ (OHCHR) มีมติเมื่อวันที่ 4 เมษายน ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน่ากลัวและเป็นระบบในเมียนมา พร้อมกับวิจารณ์เรื่องที่รัฐบาลทหารเมียนมาขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมว่า ทำให้วิกฤตที่ทำให้คนมากกว่า 2 ล้าน 5 แสนคนต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นเลวร้ายลงไปอีก ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายนนายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็นแต่งตั้งนางจูลี บิชอป อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียเป็นทูตพิเศษเลขาธิการยูเอ็นด้านเมียนมา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างลงนับตั้งแต่นางโนลีน เฮย์เซอร์ นักสังคมวิทยาชาวสิงคโปร์ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ครบวาระเมื่อเดือนมิถุนายน 2566.-814.-สำนักข่าวไทย

ชี้การเสียเมืองเมียวดีทำให้เมียนมาเสียช่องทางการค้าสำคัญ

กรุงเทพฯ 8 เม.ย.- กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ว่า การที่รัฐบาลทหารเมียนมาเสียเมืองเมียวดีให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ที่จับมือกับกลุ่มต่อต้าน ทำให้สูญเสียช่องทางการค้าสำคัญ นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ให้ความเห็นกับเว็บไซต์อัลจาซีราว่า เมืองเมียวดีที่อยู่บริเวณพรมแดนเมียนมา ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของไทยเป็นเส้นทางการค้าสำคัญ เพราะถึงแม้จะเกิดการสู้รบครั้งใหม่นับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 การค้าทวิภาคีข้ามพรมแดนช่วงเดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 ยังคงมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 36,730 ล้านบาท) การสูญเสียเมืองเมียวดีจึงเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของเมียนมา เพราะเมืองนี้ใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดในบรรดาจุดผ่านแดนอย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับเมียนมา อัลจาซีรารายงานว่า ก่อนหน้านี้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (KNU) อ้างว่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นแอลเอ (KNLA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของเคเอ็นยูได้ร่วมกับนักรบต่อต้านรัฐประหารของกองกำลังปกป้องประชาชนหรือพีดีเอฟ (PDF) เข้ายึดที่ตั้งทางทหารในเมืองเมียวดี พร้อมกับเผยแพร่ภาพถ่ายอาวุธและเครื่องกระสุนที่ยึดได้ อัลจาซีราระบุว่า เคเอ็นยูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเก่าแก่ที่สุดในเมียนมา และได้ให้การฝึกอาวุธแก่นักรบของพีดีเอฟ เป็นกองกำลังที่ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือเอ็นยูจี (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของกลุ่มนักการเมืองเมียนมาที่ถูกรัฐประหาร เอ็นยูจีเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า พีดีเอฟได้ใช้โดรนโจมตีกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล.-814.-สำนักข่าวไทย

เมียนมา-จีนเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ-ท่าเรือน้ำลึกในยะไข่

ย่างกุ้ง 8 เม.ย.- เว็บไซต์ข่าวของกลุ่มชาวเมียนมาลี้ภัยในไทยรายงานว่า  รัฐบาลทหารเมียนมาและบริษัทของทางการจีนเร่งเดินหน้าการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงการท่าเรือน้ำลึกในรัฐยะไข่ แม้ว่าสถานการณ์การสู้รบในรัฐนี้ทวีความรุนแรง เว็บไซต์เดอะอิรวดี (The Irrawaddy) รายงานว่า นายออง เนียง อู ประธานคณะทำงานกลางเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียนมาเรียกร้องเมื่อวันที่ 2 เมษายนให้เร่งเตรียมการให้แล้วเสร็จสำหรับข้อตกลงสัมปทานและภาคผนวกเรื่องการสร้างท่าเรือน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ (Kyaukphyu) และเมื่อวันที่ 4 เมษายนคณะตัวแทนของซิติก (CITIC) บริษัทลงทุนของทางการจีนได้เข้าพบนายเมียว ถั่นต์ รัฐมนตรีการก่อสร้างของเมียนมาที่กรุงเนปิดอว์ เพื่อหารือเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในโครงการท่าเรือน้ำลึกที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ รัฐยะไข่ ทางตะวันตกสุดของเมียนมา โครงการนี้จะเปิดทางให้มณฑลยูนนานของจีนที่ไม่มีทางออกทางทะเลมีช่องทางเข้าออกมหาสมุทรอินเดีย และเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางหรือบีอาร์ไอ (BRI) ของจีน กองทัพอาระกันหรือเอเอ (AA) สู้รบกับกองทัพเมียนมามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 หวังยึดครองรัฐยะไข่ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยในขณะนี้ยึดได้แล้วหลายเมือง และเมื่อต้นเดือนมีนาคม เอเอประกาศขอร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติที่ยังดำเนินการอยู่ในรัฐยะไข่ โดยรับปากว่าเรื่องการรับประกันความปลอดภัย และเมื่อวันที่ 1 เมษายน นายเติ้ง สีจุน ทูตพิเศษเรื่องเมียนมาของจีนได้เข้าพบ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายของเมียนมาหารือเรื่องความเป็นไปได้ที่จะมีการหยุดยิงในรัฐยะไข่ เดอะอิรวดีชี้ว่า การที่จีนเริ่มกังวลต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่มากขึ้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะนอกจากเขตเศรษฐกิจและท่าเรือน้ำลึกแล้ว จีนยังมีท่อส่งน้ำมันและก๊าซที่วางจากเมืองรุ่ยลี่ของจีน ตัดผ่านรัฐฉาน ภาคมัณฑะเลย์ […]

ยูเอ็นเรียกร้องให้ปิดกั้นการเงิน-อาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมา

ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าววันนี้ว่า ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมายในการจำกัดการเข้าถึงอาวุธ เชื้อเพลิงเครื่องบินและเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อป้องกันมิให้กระทำการที่โหดร้ายกับประชาชนของตน

เมียนมาประกาศเกณฑ์ทหารคนหนุ่มสาวทุกคน

ย่างกุ้ง 11 ก.พ.- รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศเกณฑ์ทหารคนหนุ่มสาวทุกคน ในช่วงที่กำลังหาทางควบคุมกองกำลังติดอาวุธในหลายพื้นที่ของประเทศที่ต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจปกครองตนเองมากขึ้น สื่อทางการเมียนมารายงานว่า  ชายอายุ 18-35 ปี และหญิงอายุ 18-27 ปี จะต้องเป็นทหารรับใช้ชาติ 2 ปี ส่วนผู้มีอาชีพพิเศษ เช่น แพทย์ อายุไม่เกิน 45  ปีจะต้องเป็นทหาร 3 ปี และสามารถขยายเป็นสูงสุด 5 ปีได้ในช่วงเวลาที่ใช้สถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ในขณะนี้ โฆษกรัฐบาลเผยกับสื่อทางการว่า หน้าที่ในการปกปักและปกป้องประเทศชาติไม่ได้เป็นของทหารเท่านั้น แต่ได้ขยายไปถึงพลเมืองทุกคน จึงอยากให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายการเกณฑ์ทหารนี้อย่างภาคภูมิใจ เมียนมามีกฎหมายการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปี 2553 แต่ยังไม่เคยบังคับใช้จนกระทั่งปัจจุบัน ผู้ไม่ไปรับการเกณฑ์ทหารจะถูกจำคุกสูงสุด 5 ปี นักวิเคราะห์ชี้ว่า กองทัพเมียนมาหรือทัตมาดอว์ (Tatmadaw) กำลังมีปัญหาในการหาทหารไปสู้รบ และได้เริ่มบังคับบุคลากรที่ไม่ได้สู้รบออกไปยังแนวหน้า เมียนมาตกอยู่ในภาวะโกลาหลตั้งแต่กองทัพรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 กองทัพได้สูญเสียกำลังพลไปมากในการสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่มที่จับมือกันเป็นพันธมิตร รวมถึงกองกำลังเรียกร้องประชาธิปไตยที่จับอาวุธขึ้นสู้กับกองทัพ.-814.-สำนักข่าวไทย

เมียนมาประท้วงเงียบ

ย่างกุ้ง 2 ก.พ.- ผู้คนทั่วเมียนมาเข้าร่วมการ “ประท้วงเงียบ” ต่อต้านรัฐบาลทหารที่ทำรัฐประหารครบรอบ 3 ปี จนท้องถนนในย่างกุ้งเงียบเหงาไร้ผู้คน ชาวเมียนมาทั้งในนครย่างกุ้งและอีกหลายเมืองทั่วประเทศ เข้าร่วมการประท้วงเงียบต่อต้านรัฐบาลทหารของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนครบรอบ 3 ปีเมื่อวานนี้ โดยชาวเมียนมาต่างพร้อมใจเก็บตัวอยู่ในบ้านไม่ออกไปทำงาน จนทำให้ท้องถนนในหลายเมืองโดยเฉพาะในนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่า และเมืองเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในประเทศ ว่างโล่งแทบไร้ยวดยานพาหนะและผู้คนเกือบจะตลอดทั้งวัน ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาไปรวมตัวชุมนุมกันที่หน้าอาคารสำนักงานสหประชาชาติ บนถนนราชดำเนินในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติการยึดอำนาจ หลังทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนาง ออง ซาน ซูจี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แกนนำผู้ประท้วงบอกว่าที่ต้องมาชุมนุมกันที่หน้ายูเอ็นก็เพราะต้องการให้โลกได้รับรู้ถึงข้อเรียกร้องของชาวเมียนมา และต้องการแสดงความไม่พอใจต่อพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ในวันเดียวกันรัฐบาลทหารเมียนมาได้ประกาศขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน หลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาโดยตลอดนับตั้งแต่วันที่ทำรัฐประหารเมื่อ 3 ปีก่อน รัฐบาลให้เหตุผลว่ายังมีภารกิจสำคัญในการนำพาประเทศกลับสู่สถานการณ์ปกติและความสงบสุข ขณะที่ในเวลานี้รัฐบาลกำลังเจอกับแรงต่อต้านครั้งรุนแรงที่สุดจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ผนึกกำลังกันต่อสู้กับกองทัพ อย่างไรก็ดี การขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป จะทำให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไปอีก เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 6 เดือนหลังยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน.-815(814).-สำนักข่าวไทย

เมียนมาผ่อนคลายระเบียบลงทะเบียนเลือกตั้ง

รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศผ่อนคลายระเบียบการลงทะเบียนเลือกตั้งของพรรคการเมือง ก่อนที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งใช้มาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเกือบ 3 ปีก่อนจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่ชั่วโมงในวันนี้

ทูตพิเศษอาเซียนคนใหม่ไปพบผู้นำเมียนมา

เนปิดอว์ 11 ม.ค.-สื่อทางการเมียนมารายงานวันนี้ว่า ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาได้ให้การต้อนรับทูตพิเศษอาเซียนคนใหม่ และหารือเรื่องความพยายามของเมียนมาในการสร้างหลักประกันให้แก่สันติภาพและเสถียรภาพของประเทศ หนังสือพิมพ์โกลบอลไลท์ออฟเมียนมารายงานว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ประธานประธานสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบัน ได้ให้การต้อนรับนายอาลุนแก้ว กิตติคุน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของ สปป.ลาวในฐานะทูตพิเศษอาซียนคนใหม่ เนื่องจาก สปป.ลาวรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้  ทั้ง 2 ได้หารือเรื่องความพยายามของรัฐบาลเมียนมาในการสร้างหลักประกันให้แก่สันติภาพและเสถียรภาพของเมียนมาและความปรองดองแห่งชาติ ผู้นำเมียนมากล่าวว่า รัฐบาลกำลังปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการของอาเซียนที่ปรับให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของสภาบริหารแห่งรัฐ เมียนมาเกิดเหตุรุนแรงอย่างไม่หยุดหย่อน นับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และแทบไม่มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติที่อาเซียนและเมียนมาตกลงกันในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ล่าสุดสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มพร้อมใจกันโจมตีกองทัพด้วยการยึดที่ตั้งทางทหารและเมืองการค้าสำคัญบริเวณพรมแดนติดกับจีน.-814.-สำนักข่าวไทย

1 2 3 5
...