สำนักข่าวไทย 7 พ.ค.- ในไทยยังคงมีความพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง อย่างที่บริษัทไบโอเน็ท –เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตวัคซีนในไทย ขณะนี้กำลังวิจัย และพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ประเภทดีเอ็นเอวัคซีน ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีน
บริษัทไบโอเน็ท –เอเชีย จำกัด บริษัทร่วมทุนไทย – ฝรั่งเศส เดินหน้าวิจัย และพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยนำเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาวัคซีน คือ เทคโนโลยีดีเอ็นเอวัคซีน เช่นที่ต่างประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา ได้นำมาใช้วิจัยวัคซีนโควิด-19 เช่นกัน
ดร.ฮองไทยฟาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไบโอเน็ท เอเชีย จำกัด ให้ข้อมูลว่า โครงการวิจัย และพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของที่นี่ ซื้อกล้าเชื้อชนิดดีเอ็นเอจากต่างประเทศ เมื่อเดือนมกราคม ก่อนจะนำมาตัดต่อพันธุวิศวกรรม และเพาะเลี้ยงในเชื้อหมัก และพัฒนาเป็นวัคซีนตัวเลือก หรือ แคนดิเดท วัคซีน ปัจจุบันผลิตเป็นวัคซีนตัวเลือกได้แล้ว และเริ่มฉีดทดลองในหนูเมื่อต้นเดือนเมษายน
“การใช้วัคซีนดีเอ็นเอ ที่สามารถสร้างแอนติเจน หรือสารก่อภูมิต้านทาน ของไวรัสโคโรนา 2019 ได้นั้น หลังจากที่ฉีดเข้าไปในร่างกาย มันช่วยจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันหรือ แอนติบอดี้ เพื่อยับยั้งการทำงานของไวรัส” ดร.ฮองไทยฟาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไบโอเน็ท เอเชีย จำกัด อธิบาย
สำหรับขั้นตอนหลังจากฉีดทดลองในหนูแล้ว นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ระบุว่า จะนำตัวอย่างเลือดของหนู ส่งให้สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูระดับภูมิคุ้มกัน หากได้ผลดี จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเป็นวัคซีนต้นแบบ และผลิตในโรงงานที่ได้รับรอง GMP ก่อนนำมาทดลองในคน
“วางแผนทดลองในคนระยะ 1 ดูความปลอดภัย และระยะ 2 ดูการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ควบคู่กันไป พร้อมๆกับการพัฒนา และทดลองระยะที่ 3 จนสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนกับอย.ได้สำเร็จ และตั้งเป้าจะนำมาใช้ในประเทศ ให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมดเร็วที่สุดคาดว่า จะใช้เวลา 12 เดือน” นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุลผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าว
ทั้งนี้การผลิต หากวิจัยได้ผลสำเร็จจะสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะบริษัทไบโอเน็ท-เอเชีย จำกัด นอกจากจะเป็นสถานที่คิดค้นวัคซีน และทดสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัยแล้ว ยังมีโรงงานผลิต บรรจุ จัดจำหน่าย แบบครบวงจร และมีประสบการณ์วิจัย และพัฒนาวัคซีนไอกรน ซึ่งเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจจนสำเร็จ สามารถนำมาใช้ในไทย และส่งออกไปต่างประเทศ แต่หากผลวิจัยดีเอ็นเอวัคซีนโควิด-19 ไม่สำเร็จ จะเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยของรัฐที่กำลังวิจัย และพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เช่น จุฬาฯ และมหิดล ใช้โรงงานนี้เป็นสถานที่ผลิต กรณีผลวิจัยชี้ชัดว่า มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อกระจายวัคซีนให้กับคนในประเทศได้เร็วที่สุด ไม่ต้องรอต่อคิวซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ ที่อาจจะผลิตได้ก่อน แต่เข้าถึงได้ยากกว่า โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง