02 เมษายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐอเมริกา ยืนยันการพบกลุ่มอาการ Post-Vaccination Syndrome ซึ่งเป็นอาการป่วยเรื้อรังที่เกิดกับผู้รับวัคซีนโควิด-19 ทั้งภาวะเหนื่อยง่ายและฟื้นตัวช้าจากการออกกำลัง (Exercise Intolerance) ภาวะอ่อนเพลียเหนื่อยล้าเรื้อรัง ภาวะสมองล้า อาการชา และ โรคของระบบประสาท
บทสรุป :
- ผู้เชี่ยวชาญหลายคนลงความเห็นว่า อาการเรื้อรังที่เกิดกับผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกับลองโควิดอย่างมาก
- มีการศึกษาอาการข้างเคียงแบบเดียวกันในกลุ่มผู้ฉีดวัตซีนและผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งผู้ติดเชื้อมีโอกาสเกิดโรคสูงกว่า
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 เป็นผลงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ (Preprint) โดยทีมงานของ ดร.ฮาร์แลน ครัมโฮล์ซ แพทย์โรคหัวใจและนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล โดยศึกษาข้อมูลจากกลุ่มผู้ป่วยทางออนไลน์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงผิวขาวจำนวน 241 ราย ที่ยืนยันการเกิดอาการป่วยเรื้อรังหลังการรับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งอาการที่พบเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 3 วันจนถึง 595 วันหลังจากรับวัคซีน ทีมวิจัยจึงเรียกอาการเหล่านั้นว่าเป็น Post-Vaccination Syndrome หรืออาการป่วยเรื้อรังหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายรายตั้งข้อสงสัยการมีอยู่ของ Post-Vaccination Syndrome เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่สรุปได้ชัดเจนว่า อาการที่เกิดขึ้นกับกลุ่มตัวอย่าง มีสาเหตุจากวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ทั้งลักษณะของโรคและช่วงเวลาของการเกิดโรค
อาการ Post-Vaccination Syndrome คล้ายกับลองโควิด
ดร.ลินดา เจง อายุรแพทย์และผู้อำนวยการร่วมของศูนย์ศึกษาอาการป่วยหลังจากติดเชื้อโควิด-19 เฉียบพลัน จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ให้ข้อสังเกตว่าอาการของ Post-Vaccination Syndrome มีความคล้ายคลึงกับอาการของผู้ป่วยลองโควิดอย่างมาก แม้ทีมวิจัยจะแยกคนทั้งสองกลุ่มออกจากกัน แต่เป็นเรื่องยากที่ผู้ป่วยจะแยกได้เองว่า สาเหตุของการป่วยเรื้อรังเป็นเพราะวัคซีนหรือจากการติดเชื้อโควิด-19
โดยพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาก่อนอีกด้วย
แม้รายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) และ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ยืนยันความคล้ายกันของอาการ Post-Vaccination Syndrome กับผู้ป่วยลองโควิด แต่ยังไม่พบว่าอาการข้างเคียงจากวัคซีนพัฒนากลายเป็นโรคเรื้อรัง เพราะอาการข้างเคียงส่วนใหญ่ที่เกิดกับผู้ฉีดวัคซีนจะหายไปในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น
เทียบความเสี่ยงโรค POTS ระหว่างวัคซีนกับโควิด-19
ดร.อลัน ควาน แพทย์โรคหัวใจ จากโรงพยาบาล Cedars-Sinai สหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมวิจัยที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (Postural Orthostatic Tachycardia Syndrome : POTS) ในกลุ่มผู้รับวัคซีนโควิด-19 และผู้ป่วยโควิด-19
อาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่าหรือ POTS คือ อาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หน้ามืด และหมดสติ เนื่องจากหัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติเวลาเปลี่ยนท่า เช่น ลุกขึ้นยืนหรือนั่ง
ดร.อลัน ควาน พบว่า ผู้รับวัคซีนโควิด-19 และผู้ป่วยโควิด-19 เกิดอาการ POTS ในช่วง 90 วันหลังรับวัคซีนและติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าช่วง 90 วันก่อนการรับวัคซีนและติดเชื้อโควิด-19
อย่างไรก็ดี ดร.อลัน ควาน ยืนยันว่า การป่วยด้วยโรค POTS มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนยิ่งกว่าในผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีความเสี่ยงมากกว่าการฉีดวัคซีนมากกว่า 5 เท่า
ดร.อลัน ควาน จึงสรุปว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดความเสี่ยงการเกิดโรค POTS ได้มากกว่า ซึ่งเขายังคงมั่นใจที่จะแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 เช่นเดิม
Nocebo Effect อาการข้างเคียงจากยาหลอก
ในการวิจัยเกี่ยวกับยาและวัคซีน ยังมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Nocebo Effect หรืออาการข้างเคียงจากยาหรือวัคซีน ที่เกิดกับคนที่ได้รับยาหลอกหรือไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของผู้ได้รับยาหลอกหรือวัคซีนหลอก
ดร.ลินดา เจง ชี้แจงว่า มีงานวิจัยพบปรากฏการณ์ Nocebo Effect ในระหว่างการทดลองวัคซีนโควิด-19 โดยพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนหลอก มีอาการข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 โดยอาการที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ ปวดศีรษะและอ่อนเพลีย
ดร.ลินดา เจง ย้ำถึงงานวิจัยที่พบว่า ความรู้สึกต่อต้านต่อวัคซีน มีอิทธิพลต่อการเกิดอาการข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 เช่นเดียวกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.factcheck.org/2023/12/scicheck-yale-preprint-recorded-patient-experiences-did-not-demonstrate-vaccines-cause-new-syndrome/
https://en.wikipedia.org/wiki/Nocebo
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter