03 เมษายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางเว็บไซต์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อบทความเดือนมกราคม 2024 ของ The Blaze เว็บไซต์ที่มีประวัติเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 อ้างงานวิจัยที่พบว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กและคนหนุ่มสาว
บทสรุป :
เป็นข้ออ้างผิด ๆ จากแพทย์ผู้มีแนวคิดต่อต้านวัคซีน ผ่านการนำเสนองานวิจัยที่เต็มไปด้วยจุดบกพร่องและการบิดเบือน
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ข้ออ้างดังกล่าวนำมาจากงานวิจัยโดย เจสซิกา โรส นักชีวสารสนเทศศาสตร์ และ ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ แพทย์โรคหัวใจ ซึ่งมีประวัติเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้งคู่
จากการตรวจสอบโดย Fact Checker พบว่า งานวิจัยที่กล่าวอ้างมีข้อบกพร่องและการบิดเบือนข้อมูลหลายประการ
กลุ่มตัวอย่างฉีดวัคซีนมานานกว่า 1 ปี
ข้อมูลที่ทีมวิจัยใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง นำมาจากระบบรายงานเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากวัคซีน (VAERS) โดยเคสแรกเป็นการเสียชีวิตของชายวัย 33 ปี ที่เสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่วนเคสที่ 2 เป็นเยาวชนชายวัย 15 ปีที่ป่วยหนักจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตในเวลาเพียง 4 วัน
อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย พบว่าเยาวชนชายวัย 15 ปีฉีดวัคซีนครั้งสุดท้ายประมาณ 1 ปีก่อนเสียชีวิต ส่วนชายวัย 33 ปีไม่ได้ฉีดวัคซีนมาเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี
การเชื่อมโยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบกับการเสียชีวิตของบุคคลทั้ง 2 มีความขัดแย้งกับข้อมูลทางการแพทย์ ที่พบว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด-19 จะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกหลังการฉีดวัคซีน มีส่วนน้อยที่พบหลังจากรับวัคซีนไปแล้ว 1 เดือน โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด-19 จะเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 7 วัน
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนไม่ใช่อาการรุนแรง
ทีมวิจัยยังอ้างว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด-19 ก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง โดยพบว่า 76% ของผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือถูกส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี รายงานจาก VAERS ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การรักษาตัวทั้งหมดมีสาเหตุจากวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ นอกจากนี้ งานวิจัยส่วนใหญ่ยังพบว่าผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด-19 มักมีอาการไม่รุนแรงและส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง
โปรตีนหนามจากไวรัสอันตรายกว่าวัคซีน
ทีมวิจัยยังอ้างงานวิจัยโดยสแวงค์และคณะ ที่พบว่าโปรตีนหนามที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อร่างกายนานเป็นปี
อย่างไรก็ดี เดวิด วอลต์ ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยา โรงพยาบาล Brigham and Women’s Hospital และสมาชิกสถาบัน Wyss Institute มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งร่วมในงานวิจัยที่ถูกอ้างอิง ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของเจสซิกา โรส และ ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์
เดวิด วอลต์ ชี้แจงว่าทีมวิจัยไม่ได้ตรวจพบโปรตีนหนามในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 นานเป็นปี แต่ตรวจพบ S1 หรือหน่วยย่อยของโปรตีนหนามในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในช่วง 3-7 วันหลังจากรับวัคซีนเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่สามารถตรวจพบส่วนประกอบของโปรตีนหนามได้อีก
แต่ในทางกลับกัน ในกลุ่มผู้ป่วยลองโควิด หรือผู้มีอาการป่วยเรื้อรังหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทีมวิจัยยังสามารถตรวจพบโปรตีนหนาม แม้จะเคยติดเชื้อมานานกว่า 1 ปีแล้วก็ตาม
การติดโควิดเสี่ยงป่วย-ตายมากกว่าวัคซีน
ข้อมูลจาก CDC พบว่า ความเสี่ยงการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 มีสูงกว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึง 2-8 เท่า
โดยสมาคมโรคหัวใจอเมริกา (American Heart Association) ก็ย้ำว่าวัคซีนโควิด-19 มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง
นอกจากนี้ การติดเชื้อโควิด-19 ยังเพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ทั้งลิ่มเลือดอุดตันและโรคระบบประสาท เช่น สภาวะอ่อนล้าและภาวะสมองล้า
CDC ยังพบว่าระหว่างเดือนธันวาคม 2020 ถึง กรกฎาคม 2021 อัตราการเสียชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีน มีสัดส่วนที่ต่ำกว่าผู้ไม่ฉีดวัคซีน และมีงานวิจัยกับกลุ่มตัวอย่าง 520,000 ราย ที่พบว่า ในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนมีโอกาสเสียชีวิตจากปัจจัยต่าง ๆ น้อยกว่าผู้ไม่ฉีดวัคซีนถึง 37%
ข้อมูลอ้างอิง :
https://healthfeedback.org/claimreview/claim-myocarditis-covid-vaccines-carries-serious-risk-death-flawed-study/
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC10169416/
https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/71/wr/mm7114e1.htm
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter