กรุงเทพฯ 3 มิ.ย. – ผลงานวิจัยเรื่อง “Building a Thailand-China Community with a Shared Future and Its Implications for Thailand” ซึ่งดำเนินการโดย ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ตั้งอยู่บนพื้นฐานประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ฉันมิตรที่แข็งแกร่ง ซึ่งนำไปสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันอย่างแท้จริงในโลกยุคใหม่
วันนี้ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “Building a Thailand-China Community with a Shared Future” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่อง “Building a Thailand-China Community with a Shared Future and Its Implications for Thailand” โดยมี ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเป็นองค์ปาฐกถา
อาจารย์ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน และความหมายที่มีต่อประเทศไทย” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้ทำร่วมกันกับ ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ และ ดร.กรองจันทน์ จันทรพาหา แห่งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสรุปผ่าน 3 เรื่องเล่า ที่ชี้ถึงรากฐานของความสัมพันธ์อันเข้มแข็งระหว่างไทยกับจีน ที่ต่อยอดไปถึงความร่วมมือกันเพื่อประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันในยุคปัจจุบัน
เรื่องเล่าประเด็นแรกที่ อาจารย์ ดร.อาร์ม กล่าวถึง คือ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดลึกซึ้งในระดับสมาชิกพระราชวงศ์ไทย โดยเฉพาะสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งคนจีนรู้จักกันดีในพระนาม “ซือหลินทงกงจู่ 诗琳通公主 ” ทรงปูทางความสัมพันธ์ไทย-จีน ให้ลึกซึ้งเหนียวแน่น เสริมสร้างสังคมที่มีอนาคตร่วมกันอย่างแท้จริง
เรื่องเล่าประเด็นที่ 2 คือ ประวัติศาสตร์การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน จากบันทึกของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่เล่าถึงการเดินทางไปพบกับนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ของจีน เพื่อลงนามบันทึกความตกลงร่วมกันในปลายยุคสงครามเย็น (เมื่อ 49 ปีที่แล้ว) เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล กำลังพักรักษาตัว แต่การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาด้วยท่าทีที่เป็นมิตรของผู้นำทั้งสองจากประเทศที่มีระบบการปกครองแตกต่างกัน ก็ถือเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นธรรมชาติ เสมือนพี่น้องหวนคืนมาพบกัน
การปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยและจีน ความรู้สึกใกล้ชิดเช่นนี้ถือเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งของทั้ง 2 ประเทศ ที่สำคัญจากการสำรวจวิจัยประวัติความสัมพันธ์ไทยและจีน นับตั้งแต่ยุคสุโขทัยของไทย และสมัยราชวงศ์หยวนของจีน พบว่า ในกระแสประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งไทยและจีน ไม่เคยมีประวัติความบาดหมาง หรือมีข้อขัดแย้งใด ๆ เลย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ ตั้งอยู่บนรากฐานประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ฉันมิตรที่แข็งแกร่งมาก
เรื่องเล่าที่ 3 คือ ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญระหว่างไทยและจีน ที่ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก เมื่อคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของจีน ในโครงการฉางเอ๋อ-7 ได้คัดเลือกอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศและตรวจวัดรังสีคอสมิก ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติของไทย ให้เป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะนำไปติดตั้งกับยานอวกาศฉางเอ๋อ-7 ประเด็นนี้สะท้อนถึงข้อคิดเกี่ยวกับการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของไทย-จีนยุคใหม่ คือ การเชื่อมโยงแนวคิดการพัฒนาของจีน เข้ากับการพัฒนาของไทย ด้วยการส่งเสริมพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียุคใหม่ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยยกระดับทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีของประเทศไทย ซึ่งจะนำพาให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และบรรลุเป้าประสงค์ของการพัฒนาร่วมกัน หรือ Common Development ที่เป็นแกนหลักของการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน
ในโอกาสนี้ ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีกับงานวิจัยซึ่งดำเนินการโดยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งย้ำว่า จีนมีแนวคิดในการร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ โดยยึดหลักความไว้เนื้อเชื่อใจ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงและความเสมอภาค สอดคล้องกับแนวคิดแห่งสันติภาพ เพื่อโลกใหม่ที่มีสันติภาพและก้าวหน้า จีน-ไทยมีผลประโยชน์ร่วมกันในกิจการระหว่างประเทศทั้งในระดับโลกและภูมิภาค การกระชับความสัมพันธ์ ร่วมมือกัน เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำประโยชน์สูงสุดมาสู่ประเทศและประชาชน
ขณะที่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตั้งแต่อดีต รัฐบาลไทยและจีนมีความร่วมมือและมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น ช่วยเหลือและร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี ความสัมพันธ์ที่มีรากฐานที่มั่นคง มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และมีพลังสร้างสรรค์เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างความสัมพันธ์ 2 ประเทศ ที่ยั่งยืนของโลกยุคใหม่.-811(814).-สำนักข่าวไทย