01 เมษายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่านักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้ทดลองสร้างเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีอัตราการเสียชีวิตหลังการติดเชื้อถึง 100% หลังพบว่าหนูทดลอง 4 ตัวที่ได้รับเชื้อเสียชีวิตทั้งหมดในเวลาเพียง 8 วัน
บทสรุป :
- ไวรัสที่ใช้ทดลองเป็นไวรัสโคโรนาจากตัวนิ่มที่กลายพันธุ์ ไม่ใช่การสร้างไวรัสโควิด-19 ขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด
- สาเหตุที่หนูติดเชื้อรุนแรง เพราะมีการตัดต่อพันธุกรรมให้หนูมีเอนไซม์ ACE2 สำหรับรับเชื้อไวรัสเหมือนมนุษย์ในปริมาณมาก
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบโดย Fact Checker พบว่า คำกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากการทดลองครั้งนี้ไม่มีการพัฒนาไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ตามที่กล่าวอ้าง เพราะไวรัสที่ใช้ในการทดลองเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ แต่มีการดัดแปลงหนูทดลองให้มีเอนไซม์ ACE2 ที่เหมือนกับมนุษย์ในปริมาณมาก ส่งผลทำให้รับเชื้อได้มากกว่าและมีอาการป่วยที่รุนแรงกว่าปกติ
ไวรัสจากตัวนิ่ม
ไวรัสที่คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน 10 รายในเมืองหนานจิงใช้ทดลองมีชื่อว่า GX_P2V เป็นไวรัสโคโรนาที่ได้มาจากตัวนิ่มเมื่อปี 2017
แม้จะเป็นไวรัสโคโรนาเหมือนกับไวรัสโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าไวรัส GX_P2V ไม่ใช่สายพันธุ์ที่สืบทอดมาจากไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด
ต่อมาวงการวิทยาศาสตร์ได้นำไวรัส GX_P2V มาทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งสายพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนใช้ในการทดลองครั้งนี้ มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมเมื่อปี 2017 เนื่องจากเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส GX_P2V
แอนเจลา แรสมุสเซน นักไวรัสวิทยา จากองค์กรวัคซีนและโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยซาแกตชีวาน ประเทศแคนาดา ชี้แจงว่า ไวรัส GX_P2V ไม่ต่างจากไวรัสโคโรนาอื่น ๆ ที่มี RNA เป็นสารพันธุกรรม ซึ่งโดยธรรมชาติจะมีอัตราการกลายพันธุ์เร็วกว่าไวรัสที่ใช้ DNA เป็นสารพันธุกรรม ดังนั้นการที่สายพันธุ์ที่ใช้ทดลองแตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ไม่ได้เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรม แต่เป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
การสร้าง Humanized Mouse
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนทำการเปลี่ยนแปลงในการทดลองครั้งนี้ คือการดัดแปลงพันธุกรรมของหนูทดลองให้สามารถรับเชื้อไวรัส GX_P2V ในปริมาณที่มากกว่าปกติ
ตามหลักการทั่วไป ไวรัสจะเข้าสู่เซลล์ได้ก็ต่อเมื่อผ่านทางเอนไซม์ ACE2 ที่อยู่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งคอยทำหน้าที่เป็นตัวรับเชื้อไวรัส นักวิทยาศาสตร์จีนจึงทำการดัดแปลงให้หนูทดลองมีเอนไซม์ ACE2 ที่คล้ายกับมนุษย์ เพื่อศึกษากระบวนการติดเชื้อไวรัส GX_P2V ในมนุษย์
ในการทดลองครั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนทำการตัดต่อพันธุกรรมให้หนูทดลองมีเอนไซม์ ACE2 แบบมนุษย์เป็นจำนวนมากตามเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมองและปอด
การทดลองที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2024 พบว่าหนูทดลองทั้ง 4 ตัวตายลงในเวลาเพียงแค่ 8 วัน หลังการติดเชื้อรุนแรงที่สมอง
การติดเชื้อใน Humanized Mice แตกต่างจากหนูและคน
ลีหัวซง ศาสตราจารย์ภาควิชาเคมีเทคนิค มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งร่วมในการทดลองชี้แจงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับหนูทดลอง จะไม่เกิดขึ้นกับคนหรือหนูทั่วไป เพราะหนูที่ใช้ทดลองคือสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ นอกจากนี้หนูและมนุษย์ทั่วไปจะมีปริมาณเอนไซม์ ACE2 ในสมองน้อยกว่าในหนูทดลองอย่างมาก
ลีหัวซง ย้ำว่าจุดประสงค์ของการทดลองครั้งนี้ คือการทดสอบความเป็นไปได้ของการนำสายพันธุ์ของไวรัส GX_P2V มาใช้พัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนายาต้านไวรัสโควิด-19 เช่นกัน
ข้อกล่าวหาเรื่องการทดลอง Gain of Function
มีการกล่าวหาทีมวิจัยว่า การทดลองดังกล่าวเข้าข่ายการทดลองแบบ Gain of Function หรือการทดลองที่จงใจให้เชื้อโรคมีความอันตรายมากขึ้น เช่น ก่อโรคได้รุนแรงยิ่งขึ้น หรือ สามารถติดเชื้อในสิ่งมีชีวิตหลากหลายมากขึ้น
ซึ่ง ลีหัวซง ยืนยันว่าการทดลองของเขาและทีมงานไม่ใช่ ทดลองแบบ Gain of Function เช่นเดียวกับ แอนเจลา แรสมุสเซน ที่มองว่าไวรัสในการทดลองครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมให้มีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือกลไกในการรับเชื้อที่รุนแรงขึ้นของหนูทดลอง ซึ่งไม่ได้เกิดกับตัวไวรัส จึงไม่นับว่าเป็นการทดลองแบบ Gain of Function
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.factcheck.org/2024/02/scicheck-posts-misrepresent-mouse-study-of-pangolin-virus/
https://www.politifact.com/factchecks/2024/jan/26/instagram-posts/claim-that-chinese-scientists-created-100-fatal-co/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter