30 มีนาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่าผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 99 ล้านราย พบอาการข้างเคียงจากผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 หลากหลายชนิด แสดงให้เป็นว่าวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเพียงพอก่อนได้รับการอนุมัติ
บทสรุป :
- อาการที่พบส่วนใหญ่เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ได้รับการยืนยันมานานแล้ว
- พบโรคไขสันหลังอักเสบและโรคสมองอักเสบหลายตำแหน่งเฉียบพลันในผู้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกามากกว่าคนทั่วไป แต่อยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก
- อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 สามารถพบในผู้ป่วยโควิด-19 เช่นกัน และยังมีความเสี่ยงที่สูงกว่า
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ข้อมูลที่กล่าวอ้าง นำมาจากรายงานของ Global Vaccine Data Network (GVDN) หน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยวัคซีน ที่เปิดเผยผลสำรวจอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 99 ล้านรายใน 8 ประเทศ โดยเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2024
จุดประสงค์ของการสำรวจ คือการค้นหาอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนที่อาจไม่พบจากการสำรวจโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง และช่วยให้การศึกษาความปลอดภัยของวัคซีนมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
GVDN ได้สำรวจอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 จำนวน 14 ชนิด อาทิ ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, แอสตราเซนเนกา, โนวาแวกซ์, ซิโนแวค และ สปุตนิก โดยติดตามอาการหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นเวลา 42 วัน
ผลสำรวจพบว่า การฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกาโดสแรก เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการ Guillain-Barré syndrome หรือความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลายซึ่งส่งผลให้แขนขาอ่อนแรง และอาการลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำสมอง Cerebral Venous Sinus Thrombosis : CVST) ซึ่งพบมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่ฉีดวัคซีน
ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Myocarditis และ Pericarditis) พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่รับวัคซีนทั้ง 3 ชนิด ทั้ง ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และ แอสตราเซนเนกา
อย่างไรก็ดี อาการที่กล่าวถึงคืออาการไม่พึ่งประสงค์ซึ่งเป็นที่รับรู้มาหลายปีแล้ว และยืนยันว่ามีอัตราการพบผู้ป่วยที่น้อยมาก
การสำรวจยังพบอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มอีก 2 ชนิด ได้แก่ อาการไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis : TM) และ โรคสมองอักเสบหลายตำแหน่งเฉียบพลัน (Acute Disseminated Encephalomyelitis : ADEM) โดยพบจากผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกาและผู้รับวัคซีนโดสแรกของวัคซีนโมเดอร์นา โดยมีอัตราส่วนการพบผู้ป่วยที่ 1 รายจากการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 1.75 ล้านโดส
โรคสมองอักเสบหลายตำแหน่งเฉียบพลันหรือ ADEM คือโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่สมองและเส้นประสาทไขสันหลัง มักพบในเด็กที่ป่วยจากโรคติดเชื้อ แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 5% แต่ก็มีอัตราการหายป่วยโดยไม่มีอาการข้างเคียงที่ 50-75% และมีอัตราการรอดชีวิตที่ 70-90%
อย่างไรก็ดี งานวิจัยเพิ่มเติมที่เผยแพร่ทางวารสาร Vaccine เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2024 ซึ่งสำรวจอาการไขสันหลังอักเสบและโรคสมองอักเสบหลายตำแหน่งเฉียบพลันจากผู้รับวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มตัวอย่างของประเทศออสเตรเลียจำนวน 6.7 ล้านราย ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างอาการ ADEM และ TM กับผู้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA แต่อย่างใด
แต่การสำรวจในออสเตรเลีย ยืนยันการพบความสัมพันธ์ของอาการไขสันหลังอักเสบและโรคสมองอักเสบหลายตำแหน่งเฉียบพลัน กับผู้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกา
แม้จะพบความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด Adenovirus Vector กับอาการอาการ ADEM และ TM แต่สัดส่วนการเกิดอาการดังกล่าวในผู้รับวัคซีนโควิด-19 ยังถือว่าน้อยมาก โดยสัดส่วนการพบผู้ป่วยอาการไขสันหลังอักเสบมีเพียง 1.82 ราย จากการรับวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส และพบผู้ป่วยโรคสมองอักเสบหลายตำแหน่งเฉียบพลันเพียง 0.78 ราย จากการรับวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส
แอนเดอร์ส เหวียด หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านระบาดวิทยา สถาบัน Statens Serum Institut ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งร่วมในการวิจัยครั้งนี้ ชี้แจงว่า ผลสำรวจยืนยันถึงความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 ด้านการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงจากวัคซีนในสัดส่วนเพียงเล็กน้อย
เฮเลน เพตตูซิส แฮร์ริส รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ และผู้อำนวยการร่วมของ GVDN กล่าวว่า ผลสำรวจช่วยยืนยันข้อมูลด้านอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 และยังช่วยให้ค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ ที่เกิดจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างจำนวนมหาศาลและมีความหลากหลายในครั้งนี้
โดยย้ำว่าผลสำรวจไม่ได้เปิดเผยมุมที่น่ากลัวของวัคซีนโควิด-19 เพราะไม่พบข้อมูลที่เหนือกว่าสิ่งที่คาดการณ์ไว้ เพราะอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 มีสัดส่วนที่น้อยมาก ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้ก็พบในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกัน แม้จะไม่มีวัคซีนใดมีความปลอดภัย 100% แต่สิ่งที่ยืนยันได้คืออาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน มีโอกาสเกิดได้น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นประโยชน์จากวัคซีนโควิด-19 ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังคงมีมากกว่าความเสี่ยงการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เช่นเดิม
ส่วนสาเหตุสำคัญที่วัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนาในอัตราเร่งที่รวดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่ใช่เพราะวัคซีนได้รับการผ่อนผันด้านความปลอดภัยเหมือนวัคซีนอื่น ๆ แต่เป็นเพราะความจำเป็นของการผลิตวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์และหน่วยงานภาครัฐ ร่วมมือกันพัฒนาให้วัคซีนโควิด-19 ถูกผลิตออกมาใช้งานได้ทันต่อสถานการณ์
ข้อมูลอ้างอิง :
https://healthfeedback.org/claimreview/global-covid-vaccine-safety-study-identified-already-known-risks-doesnt-show-risks-greater-than-benefits/
https://www.factcheck.org/2024/02/study-largely-confirms-known-rare-covid-19-vaccine-side-effects/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter