ศาลายา 24 ธ.ค.-สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล รณรงค์ 7วันไม่อันตราย เด็กต้องปลอดภัยในเทศกาลปีใหม่ หลังพบอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ทุกปี พบเด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตร่วมด้วย ย้ำต้องจริงจังการใช้กฏหมาย
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี ว่า ในจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะมีเด็กร่วมอยู่ด้วย โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น เป็นผู้ขับหรือซ้อนรถจักรยานยนต์ การนั่งหลังรถกระบะ ดังนั้น ในช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีการเดินทางท่องเที่ยวกันมาก จึงถือช่วงโอกาสนี้ให้เป็นช่วง
7 วัน ไม่อันตราย เด็กต้องปลอดภัยในเทศกาลปีใหม่ 2563 เพราะในความเป็นจริง มีข้อกฎหมายไว้พร้อม แต่กลับถูกละเลยสู่การปฏิบัติ ทั้งครอบครัวชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่พบเห็นอยู่ประจำคือเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ก่อนวัย ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้ขับขี่ได้เมื่ออายุ 15 ปี ขณะที่หลายหน่วยงานยอมรับว่าไม่สามารถควบคุมได้เพราะครอบครัวและเด็กมีความจำเป็นต้องใช้ ยังมีการขับรถจักรยานยนต์ที่เร็ว และไม่ใส่หมวกนิรภัย เด็กซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เด็กเมา ซึ่งล้วนแต่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายทั้งนั้น ยังมีการให้เด็กนั่งท้ายรถกระบะ รวมทั้งการนั่งรถสาธารณะไม่ใช้เข็มขัดนิรภัย ซึ่งการไม่ใช้เข็มขัดนิรภัยและการนั่งท้ายรถกระบะ ซึ่งไม่มีระบบยึดเหนี่ยว ไม่มีทั้งในกฎหมายและการสนับสนุนอื่นๆ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกว่าจำเป็น
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า จากข้อมูลปี2561 การตายของเด็กเล็กลดลงตามอายุ แต่กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่ออายุ 11-12 ปีขึ้นไปจนถึงวัยรุ่น และจากสถิติพบว่าการบาดเจ็บเป็น สาเหตุการตาย ที่เพิ่มสูงขึ้น ชัดเจนในกลุ่มเด็กอายุ 11-12 ปีขึ้นไปถึงวัยรุ่น โดยเมื่อเทียบสัดส่วนการตายด้วยการจมน้ำ ภัยทางถนน ความรุนแรงและการบาดเจ็บอื่นๆ พบว่าในเด็กเล็กการจมน้ำเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 แต่เมื่ออายุ 11-12 ปี ภัยทางถนน กลายมาเป็นสาเหตุการตายอันดับ1 ของเด็กแทน ตามด้วยภัยความรุนแรง หรือกล่าวได้ว่าเด็กอายุ1-17 ปี ตายจากการบาดเจ็บ 3,756 คน ใน1 ปี หรือเฉลี่ย 10.3 คนต่อวัน ในช่วง7วันอันตรายของปีใหม่ เฉลี่ย 14 คนต่อวัน ในช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์เฉลี่ย 23 คน และในช่วงเดือนเมษายนตายเฉลี่ย 19 คนต่อวัน
ขณะที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวได้จัดพื้นที่เรียนรู้สร้างทักษะความปลอดภัยหรือเซฟตี้ฮันเตอร์(safety hunter )เชิญชวนครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และผู้สนใจ ส่งบุตรหลาน เข้ามาเรียนรู้ทักษะการ เอาตัวรอดเพื่อความปลอดภัยของเด็ก ในระดับอนุบาล 3 –ประถมศึกษา ปีที่3ใน 3 สถานี คือ สถานีที่1The Safety Hunter ภารกิจพิชิตจุดเสี่ยง ใน พื้นที่สาธารณะและในบ้าน สถานีที่2 ปฐมพยาบาลและการกู้ชีพเบื้องต้น สถานีที่ 3 ภารกิจคิดสร้างสรรค์ และได้เพิ่มสถานที่เรียนรู้ ขยายไปใน ทุกภูมิภาค เพื่อให้ครอบคลุมสำหรับเด็กทั่วประเทศแต่ปัญหา สำคัญที่ ผู้อำนวยการสถาบันพบคือ แม้เด็กจะเรียนรู้การปฎิบัติตัวอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ทั้งการใส่หมวกกันน็อค การขับขี่ปลอดภัย แต่เมื่อนำมาใช้กับกิจวัตรประจำวัน กลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามนั่นหมายถึงเป็นการที่ผู้ใหญ่ละเลยสิทธิของเด็กโดยไม่รู้ตัวและเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิด การบาดเจ็บและเสียชีวิต บน ท้องถนน .-สำนักข่าวไทย