นนทบุรี 17 ก.ค.-ปลัดกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือ หากรัฐบาลไม่ตรึงราคาน้ำมันดีเซลจาก 32 บาทต่อลิตร ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ ที่อาจกระทบต่อต้นทุนผลิตสินค้า ทำให้ผู้ผลิตทยอยขึ้นราคาสินค้าด้วยนั้น ย้ำพาณิชย์จะดูแลทุกฝ่ายเต็มที่เพื่อสร้างความเป็นธรรม หากสินค้าใดจะขึ้นต้องขออนุมัติก่อน ชี้ใครฉวยโอกาสเจอโทษหนักแน่
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะไม่ต่อภาษีน้ำมันดีเซลจากขณะนี้อยู่ที่ลิตรละ 32 บาทตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.นี้เป็นต้นไปนั้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ ของผู้ผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นด้วยนั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งกรมการค้าภายในมีการดูแลปัญหาในเรื่องของต้นทุนต่างๆของผู้ประกอบทั้งระบบอยู่แล้ว หากรายการสินค้าใดได้รับผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตจะต้องส่งเรื่องมายังกรมการค้าภายในได้วิเคราะห์และพิจารณาถึงความเหมาะสมก่อนที่จะให้อนุมัติให้ปรับราคาสินค้าต่างๆได้
“เท่าที่ได้รับรายงานจากกรมการค้าภายในยังไม่มีรายการสินค้าไหนขอปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะการคำนวณสินค้าแต่ละรายการโดยสินค้าแต่ละชิ้นจะมีต้นทุนต่างๆเป็นองค์จะไม่ใช่เฉพาะตัวรายการสินค้าที่ได้รับผลกระทบต่อต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลอย่างเดียว ดังนั้น หากรายการสินค้าใดเห็นว่ากระทบต่อต้นทุนมากก็จะให้ปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่จะให้ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันเพียงด้านเดียว ซึ่งผู้ผลิตต่างๆ ก็เข้าใจตรงนี้ และหากเห็นว่าได้รับผลกระทบต่อต้นทุนผลิตทางกรมการค้าภายในจะพิจารณาอีกครั้ง โดยทุกฝ่ายจะต้องอยู่ร่วมกันได้และเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เน้นย้ำทุกอย่างต้องอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานทุกฝ่ายอยู่ร่วมกัน แต่หากผู้ผลิตสามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ก็จะขอให้ช่วยตรึงสินค้าไปก่อนเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อนมากจนเกินไป” นายกีรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเป็นสินค้าควบคุมจะมีอยู่ 56 รายการ แบ่งเป็นสินค้า 51 รายการ และบริการอีก 5 ราย โดยเป็นสินค้าที่ครอบคลุมต่อการครองชีพของประชาชน โดยจะดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากสินค้าควบคุมยังมีการติดตามดูแลสินค้าต่างๆอีกกว่า 290 รายการ ที่กรมการค้าภายในเฝ้าดูแลและติดตามทุกสัปดาห์ รวมทั้งยังส่งทีมออกตรวจสอบทั้งตลาดสด ห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศโดยร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศออกตรวจสอบสินค้าอุปโภคและบริโภคอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคลดความกังวล โดยเน้นย้ำให้กรมการค้าภายในได้เพิ่มการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าและการปิดป้ายแสดงราคาอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเอาเปรียบของผู้บริโภค ถ้าพบมีการเอาเปรียบทางเจ้าหน้าที่ก็จะลงไปตักเตือน จึงขอความร่วมมือกับผู้บริหารตลาด เจ้าของตลาด และผู้ประกอบการในตลาด ให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายในในการจำหน่ายสินค้าในราคาสมเหตุสมผลและปิดป้ายแสดงราคาชัดเจน
อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะดูแลทั้งร้านค้า สินค้า คุณภาพสินค้า และปริมาณสินค้า ว่ามีการบรรจุให้ถูกต้องครบถ้วนตามจำนวนที่จำหน่าย ในส่วนของเครื่องชั่งก็จะมีเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดลงไปตรวจสอบความถูกต้องเที่ยงตรง หากประชาชนผู้บริโภคพบเห็นการเอารัดเอาเปรียบ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และขอฝากถึงผู้ประกอบการว่าขออย่าเอารับเอาเปรียบผู้บริโภค โดยกรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนกรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า และปฏิเสธการจำหน่ายต้องโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่อไป.-สำนักข่าวไทย