กรุงเทพฯ 6 ม.ค.-เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปรับตัวที่ระดับ 34.49-34.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (09.00 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ
นส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงเช้าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และตัวเลขดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนธ.ค. ที่ปรับตัวขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทยังเป็นไปอย่างจำกัด โดยเงินบาทสามารถลดช่วงอ่อนค่าและฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน หลังราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้น (หลังเผชิญแรงขายหนักในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน)
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 34.40-34.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ธ.ค.2567 และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ย. ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนธันวาคม 2567 เท่ากับ 108.28 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 106.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 1.23 (YoY) โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.20-34.80 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินหยวนที่อ่อนลง เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เงินยูโรร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ท่ามกลางเครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในเขตยูโรโซนและความเสี่ยงจากสงครามการค้ารอบใหม่ ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI)เดือนธันวาคมของจีนลดลงมากกว่าคาด ทางด้านตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ในสหรัฐฯลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 สะท้อนว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง และธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)มีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนนี้ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทย 1,140 ล้านบาท และ 7,860 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับปัจจัยในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคมปรับเพิ่มสูงขึ้นตามคาด ทางด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 35.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26.3% ขณะที่ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 9.4 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าในปี 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของ Covid-19 ที่ 40 ล้านคน และไทยอาจเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ. -511- สำนักข่าวไทย