นนทบุรี 8 ส.ค. – ปลัดพาณิชย์ประสาน 8 หน่วยงาน เร่งออกมาตรการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง สกัดสินค้านำเข้า ไม่ได้มาตรฐาน ราคาถูก ทั้งช่องทาง offline และ online เสี่ยงต่อความปลอดภัยผู้บริโภค พร้อมลงพื้นที่เร่งตรวจสอบ กทม. ภายใน 1-2 วัน หากพบมีการนำเข้าสินค้าละเมิดกฎหมายจะดำเนินคดีทันที
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้า ไม่ได้มาตรฐานและราคาถูกซึ่งทะลักเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ผ่านทาง E- Commerce และด่านต่าง ๆ เนื่องจากรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากรูปแบบการค้าเดิมที่เคยมีลักษณะการสั่งสินค้าจากโรงงานมาขาย ผ่านผู้ค้าส่งและค้าปลีกในประเทศ ทั้งยี่ปั๊ว, ซาปั๊ว และจากนั้นสินค้าจึงจะถูกนำมาขายให้ผู้บริโภค แต่ปัจจุบันรูปแบบการค้าใหม่กลายเป็นโรงงานขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และส่งตรงถึงผู้บริโภคเลย ซึ่งรูปแบบธุรกิจใหม่นี้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อ value chains ทั้งหมดของไทยที่อาจทำให้เกิดผลกระทบทั้งผู้ประกอบการไทยรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่
ทั้งนี้ 8 หน่วยงานหลัก เช่น กระทรวงการคลัง มีทั้ง กรมศุลกากร,กรมสรรพากร, กระทรวงอุตสาหกรรม, Ministry of Digital Economy and Society (DES) กระทรวงสาธารณสุขจากองค์การอาหารและยา, The Office of Board of Investment (BOI) , Office of the Consumer Protection Board , Department of Special Investigation (DSI) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนรูปแบบการค้าใหม่อย่างรวดเร็วทำให้ กฎหมายที่มีอยู่อาจจะไม่ทันสถานการณ์
นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีมาตรการออกมาดูแล สินค้านำเข้า ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ โดยจะเข้มงวดเรื่องมาตรฐานสินค้านำเข้าที่ต้องผ่านการรับรอง เรื่องความปลอดภัยของ อาหาร และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นการค้า offline และ online เนื่องจากในการสุ่มตรวจเบื้องต้นของสินค้านำเข้าที่ขายในไทย พบว่า มีคนขายบางคนไม่ใช่คนไทย และบางคนไม่มีวีซ่า ไม่มีใบอนุญาตแรงงาน,ไม่มีการจดทะเบียน พาณิชย์หรือนิติบุคคล ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จะทำงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบกระจายทั่วกรุงเทพ หากพบมีการกระทำผิดกฎหมาย จะดำเนินคดีภายใต้ กม.ของแต่ละหน่วยงาน อย่างเข้มข้นรวมทั้งได้ขอความร่วมมือกับทางกรมศุลกากร เร่งส่งข้อมูลรายการสินค้านำเข้า 10 รายการแรก โดยเร็วที่สุด เพื่อดูว่ามีรายการใดเป็นสินค้าจำเป็นหรือเป็นวัตถุดิบการผลิต หรือเพื่อการบริโภคอย่างเดียว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาออกมาตรการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูกฎหมายที่สามารถบังคับให้การจำหน่ายสินค้าออนไลน์จะต้องมีสำนักงานตัวแทนจำหน่ายสินค้า ที่ตั้งในประเทศไทยได้หรือไม่ เบื้องต้น ได้ทราบข้อมูลจากทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ว่า มีกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ทุกประเภทต้องมาจดแจ้งให้ทราบภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ.2565 มาตรา 18 วงเล็บ 2 และ 3 ที่สามารถดูแลครอบคลุม แพลตฟอร์มดิจิทัล โดยขณะนี้กำลังดูว่าหากแพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าว มีลูกค้าในไทย และมีการทำธุรกรรมทางทางการเงินออนไลน์ ผ่าน electronic transaction ในไทย แม้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้นจะไม่ได้ตั้งอยู่ในไทยก็น่าจะมีการออกมาตรการมาดูแลได้ เพราะในกฎหมายระบุว่า หากบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลใดมีลักษณะเฉพาะและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ ความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และมีผลกระทบในระดับสูงที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจของแพลตฟอร์มนั้น ก็จะสามารถใช้กฎหมายนี้เข้ามาดูแลได้ โดยมาตรการที่จะออกมาจะเป็นการดูแลผลกระทบในระยะสั้นและระยะกลางก่อน โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายให้รัดกุมมากขึ้น สำหรับการดูปัญหาระยะยาว จะต้องมีการหารือกันต่อไป. -514-สำนักข่าวไทย