กรุงเทพฯ 2 เม.ย. – รัฐ-เอกชน จับตาการประกาศนโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff Policy) ของสหรัฐฯ เตรียมข้อเสนอเจรจาเพิ่มสินค้านำเข้า-ลดภาษี – เพิ่มการลงทุนในสหรัฐ พร้อมเตรียมแผนช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ร่วมกับหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดแถลงแนวทางเตรียมความพร้อมของไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ
นายวุฒิไกร กล่าวว่า หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการทางภาษีต่อประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ และกระตุ้นการลงทุนในประเทศ รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม โดยคณะทำงานฯ ได้ร่วมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และหาแนวทางเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบและส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งวางแผนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบ ผ่านมาตรการทางการเงิน อาทิ การให้เงินชดเชยดอกเบี้ยสำหรับเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ ประเทศไทยเกินดุลภาษีสหรัฐเฉลี่ย (คิดรวมทุกรายการสินค้า) ประมาณ 10% หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากไทย 10-11% จะทำให้ไทยสูญเสียรายได้กว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าหลักที่จะได้รับผลกระทบคือสินค้าเกษตร


ที่ผ่านมาไทยประสานยื่นข้อเสนอเจรจากับสหรัฐตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ โดยมาตรการที่คณะทำงานเตรียมไว้สำหรับเจรจากับสหรัฐฯ ประกอบด้วย 1.เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เช่น พลังงาน เครื่องบิน (ซื้อ/เช่า จากสหรัฐของการบินไทย) 2.ลดภาษี-ลดอุปสรรคในการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐบางรายการ 3.เปลี่ยนนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐแทนประเทศอื่น 4.เพิ่มการลงทุนในสหรัฐ โดยเฉพาะด้านอาหาร ในรัฐที่เป็นฐานเสียงของทรัมป์ อย่างไรก็ดี หลายประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอการเจรจา รวมมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ยังมิได้ให้การตอบรับ และทุกประเทศทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้เข้ารัฐเป็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการขาดดุลการค้าที่มีสูงมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี
ทั้งนี้ ต้องจับตามาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากการประกาศ Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 (ตามเวลาสหรัฐฯ) คณะทำงานฯ ยืนยันมีความพร้อมในการหารือกับสหรัฐฯ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองประเทศ โดยมุ่งเน้นแนวทางที่สมดุลและเป็นธรรม เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเกษตรกรไทยตลอดจนรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น. -517-สำนักข่าวไทย