กรุงเทพฯ 29 พ.ค. – สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คาดราคาหมูหน้าฟาร์มจะปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 2 สัปดาห์ ครั้งละ 4 บาท ส่งผลให้ราคาอยู่ที่ 82-88 บาท/กก. เนื่องจากคำสั่งซื้อมีเข้ามาเพิ่มขึ้น ขณะที่ “หมูเถื่อน” ในตลาดเริ่มลดลง รวมถึงการระบาดของโรค ASF ในเวียดนามที่ทำให้ราคาทั้งเอเชียสูงขึ้น แต่ราคาจำหน่ายที่จะปรับใหม่ยังคงต่ำกว่าต้นทุนการผลิต
นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดการแก้ปัญหาหมูเถื่อน กล่าวว่า สถานการณ์ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากที่ทรงตัวในระดับต่ำมานาน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ปรับขึ้นกิโลกรัมละ 4 บาท ส่งผลให้ราคาอยู่ที่ 74-79 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ คาดว่าราคาจะทยอยขยับขึ้นอีกสัปดาห์ละ 4 บาท/กิโลกรัม ต่อเนื่องอีก 2 สัปดาห์
สำหรับสาเหตุที่ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับเพิ่มขึ้น เป็นเพราะปริมาณเนื้อสุกร (supply) ส่วนเกินที่มาจาก “หมูเถื่อน” ซึ่งลักลอบนำเข้า เริ่มหมดไปจากตลาด นอกจากนี้ สุกรน้ำหนักเกินคือ 120 กิโลกรัมขึ้นไปที่ผู้เลี้ยงไม่ได้จับขาย ได้ระบายออกไปแล้ว ล่าสุดความต้องการและคำสั่งซื้อสุกรขุนหน้าฟาร์มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังหนุนให้เกษตรกรปรับราคาหน้าฟาร์มเข้าหาต้นทุน เพื่อลดความเสียหายจากสภาวะขาดทุน
ทั้งนี้ หากปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 4 บาท จากที่ปรับขึ้นเมื่อวันพระที่ 27 พฤษภาคม 2566 เฉลี่ยที่ 74-79 บาท/กิโลกรัม จะเป็น 78-84 บาท/กิโลกรัม ในวันพระ (วันวิสาขบูชา) ที่ 3 มิถุนายน 2566 แล้วปรับขึ้นอีกครั้งในวันพระที่ 11 มิถุนายน 2566 เป็น 82-88 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะใกล้เคียงกับระดับต้นทุนการเลี้ยงที่ 96.52 บาท มากขึ้น ส่วนการประเมินต้นทุนการผลิตสุกรของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกรของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 98.93 บาท/กิโลกรัม
หลังจากปรับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มรวม 3 ครั้งแล้ว จะขยับขึ้นอีกหรือไม่ ผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาคจะดูตลาดในช่วงนั้นอีกครั้ง เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมองว่าสภาวะการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่หนาแน่นในเวียดนามในปัจจุบันเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาสุกรมีชีวิตทั้งเอเชียสูงขึ้น โดยการส่งออกสุกรมีชีวิตไปประเทศรอบบ้านที่ราคาขยับขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้การปรับซัพพลายส่วนเกิน เพื่อจัดการกับราคาสุกรหน้าฟาร์มให้ใกล้เคียงกับต้นทุนทำได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะทำงานจัดการแก้ปัญหาหมูเถื่อน ซึ่งประกอบด้วย กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ครั้งล่าสุดนั้น นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ให้ความมั่นใจว่า นับจากนี้จะไม่มี “หมูเถื่อน” เข้าประเทศอีก เพราะมาตรการที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้รัดกุมและเข้มงวดอย่างยิ่ง โดยที่ประชุมกำหนดมาตรการดำเนินการ ดังนี้
1. ต่อไปสินค้าสุกรแช่แข็งกลุ่มที่ได้รับอนุญาต เช่น เครื่องใน ตับ ไส้หมักเกลือ หนังหมู อุตสาหกรรมหนังสัตว์ แคบหมู จะต้องเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น เพื่อง่ายในการตรวจสอบ และลดโอกาสหลุดรอดไปที่ท่าเรืออื่น
2. รายชื่อของบริษัทนำเข้าที่ถูกดำเนินคดีจากตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง 161 ตู้ ที่แหลมฉบังนั้น ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสามารถติดตามได้ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้เลย ซึ่งการเปิดเผยรายชื่อขึ้นอยู่กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
3. ระเบียบมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure-SOP) ต่างๆ นั้นทำอยู่แล้ว แต่เมื่อมีความเดือดร้อนของเกษตรกร กรมศุลกากรต้องเพิ่มความเข้มข้นจากสุ่มตรวจเดิมที่ 20% เป็น 100%
4. ตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติขอให้ขึ้นบัญชีผู้นำเข้าเนื้อสุกรที่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เข้าลักษณะต้องตรวจสอบการผ่านพิธีการแบบ Red Line ทั้งหมด จนกว่าจะจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าจนถึงที่สุด ทางกองสารวัตรฯ กรมปศุสัตว์ รับเรื่องและส่งรายชื่อให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ลงนามเพื่อส่งต่อกรมศุลกากรแล้ว
นายนิพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้คดี “หมูเถื่อน” เป็นคดีพิเศษที่รับผิดชอบโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว เชื่อมั่นว่าจะสามารถปราบปรามได้อย่างจริงจัง และดำเนินคดีผู้กระทำผิดทั้งขบวนการได้อย่างเด็ดขาด ตลอดจนการดำเนินคดีต่อขบวนการลักลอบนำเข้าและค้า “หมูเถื่อน” ในส่วนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตามที่ได้ร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษไว้นั้น ขอให้กระบวนการยุติธรรมพิจารณาโทษผู้กระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ ตามบทกำหนดโทษสูงสุด คือ ประหารชีวิต ที่กำหนดบทลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 2 หมวด 2 ในมาตรา 148 และ 149 เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง สำหรับผู้ที่ยังกระทำ หรือคิดที่จะกระทำอีกในอนาคต ได้แก่
- มาตรา 148 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตําแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเอง หรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท หรือประหารชีวิต
- มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท หรือประหารชีวิต.-สำนักข่าวไทย