รัฐสภา 10เม.ย.- กมธ. อุตสาหกรรมฯ แนะสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หาข้อมูลทางวิชาการและข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่ม ยืนยันเหล็กใช้สร้างสำนักงานสตง. ตกสเปกจริง เกรงเป็นช่องโหว่เอาผิดผู้ประกอบการไม่ได้ พร้อมขอ BOI เร่งถอดถอนสิทธิประโยชน์การลงทุนตามอำนาจหน้าที่ หากผู้ประกอบการละเมิดกฎหมาย ตามบันทึกของกระทรวงอุตสาหกรรม
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวเรื่อง ปัญหาเหล็กก่อสร้างอาคาร สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. หลังเชิญอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม , เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม , อธิบดีกรมกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ มารวมประชุม ทั้งนี้ การดำเนินการของกรรมาธิการจะพิจารณาเรื่องคุณภาพการผลิตสินค้าที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง โดยประเด็นที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC ในประเด็น ความกังวลเรื่อง เหล็ก 2 ประเภท คือ DB20 และ DB32 ซึ่งเก็บมาจากอาคารของสำนักงานที่พังถล่ม หลังจากการตรวจสอบพบไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากเหล็กดังกล่าว ไม่ใช่เหล็กใหม่ แต่ผ่านการใช้งาน ทำให้เกิดแรงยืด เนื่องจากเก็บมาจากตัวตึกที่ถล่ม อาจส่งผลให้มีปัญหาในการตรวจสอบ จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะมาตรฐานที่ สมอ.ตรวจสอบเป็นเหล็กใหม่ที่เพิ่งผลิตเสร็จ ดังนั้นหน่วยงานควรเก็บข้อมูลให้รอบคอบ รัดกุม มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ และค้นหาค่าทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถเปรียบเทียบได้ว่า เหล็กดังกล่าวเมื่อผ่านการใช้งานแล้วยังเป็นตกสเปคอยู่ เพราะกรรมาธิการเป็นห่วงว่า หากส่งข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการตรวจสอบของรัฐบาล เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมแล้ว อาจกลายเป็นข้อต่อสู้ของผู้ประกอบการจนไม่สามารถเอาผิดได้ / ย้ำว่า ต้องการให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าตกมาตรฐาน ถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดอย่างโปร่งใส
นายอัครเดช กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ชี้แจงว่า ตามระเบียบก่อนการก่อสร้าง ต้องตัดเหล็กตัวอย่างมาตรวจสอบ ดังนั้นกรรมาธิการจะทำหนังสือ เพื่อขอข้อมูลในการควบคุมการก่อสร้างจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เนื่องจากการก่อสร้างหน่วยงานราชการ ไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่แจ้งให้ทราบว่าจะมีการสร้างอาคารเท่านั้น รวมถึงกรณีที่การตั้งข้อสังเกตุว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. อนุญาตให้โรงงานผลิตเหล็กดังกล่าวเปิดทำการได้นั้น สมอ. ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากคำสั่งปิดจากเหตุเพลิงไหม้ และมีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพก่อนนำมาจำหน่าย ดังนั้นเมื่อโรงงานยังไม่สามารถเปิดทำการได้ จึงไม่สามารถปลดล็อคหรือสั่งอนุมัติให้โรงงานดังกล่าวเปิดได้อย่างแน่นอน ซึ่งสินค้าที่ถูกอายัดนั้น มี 2 ประเภท คือไม่ได้มาตรฐานทางเคมี และไม่ได้มาตรฐานทางกล รวมเหล็กจำนวนกว่า 40,000 เส้น
นายอัครเดชกล่าวอีกว่ากรรมาธิการ ยังขอให้ BOI เร่งถอดถอนสิทธิประโยชน์การลงทุน เนื่องจากเหตุดังกล่าวไม่ใช่กรณีแรก แต่กรรมาธิการเคยตรวจสอบตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว ย้ำว่า เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำบันทึกถึง BOI และหากผู้ประกอบการละเมิดกฎหมาย สามารถถอดถอนการลงทุนได้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมทำบันทึกให้ BOI ถอดถอนแล้ว ก็อยากให้ BOI พิจารณาตามอำนาจหน้าที่
นายอัครเดช ยังบอกว่า พร้อมสนับสนุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงด้วยความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนรู้สึกสบายใจต่อไป.-319- สำนักข่าวไทย