กรุงเทพฯ 10 เม.ย. – สภาเกษตรกรแห่งชาติออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา แม้จะมีการระงับการจัดเก็บชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน แต่ชี้ว่าเป็นสัญญาณอันตรายต่อภาคเกษตรกรรมไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 4 ประการ โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อเกษตรกร
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติออกแถลงการณ์สภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยระบุว่า ภาษีศุลกากรที่สหรัฐอเมริกาปรับขึ้นขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยในตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เปิดช่องให้ประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาแย่งตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างข้าวหอมมะลิ กุ้งแปรรูป ผลไม้แปรรูป มันสำปะหลัง และวัตถุดิบอาหารสัตว์
ทั้งนี้ข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักไปยังสหรัฐอเมริกา ภาษีที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคา ในตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เปิดช่องให้คู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด ส่วนกุ้งแปรรูป ที่เป็นสินค้าส่งออกมูลค่าสูงของไทย กำลังเผชิญความท้าทายจากข้อกังวลของสหรัฐฯ ในประเด็นมาตรฐานการผลิต ส่วนผลไม้แปรรูปของไทยจะต้องแข่งขันกับประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากข้อตกลง FTA กับสหรัฐฯ สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งของไทย ความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน เนื่องจากประเทศคู่แข่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเรามาก ก็เสี่ยงที่จะสูญเสีย
สภาเกษตรกรฯ เตือนว่า ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่จะลามไปถึงโรงงานแปรรูป และเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ ผ่านการลดลงของราคารับซื้อและการจ้างงาน พร้อมกันนี้ ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 4 ประการ ได้แก่
- การปกป้องเกษตรกรต้องมาก่อน – ทุกการเจรจากับสหรัฐฯ ต้องตั้งอยู่บนฐานผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก โดยเฉพาะในกรณีการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องมีการควบคุมปริมาณและจังหวะเวลาที่เหมาะสม
- มาตรการเยียวยาตรงจุด – ขอให้มีความช่วยเหลือโดยตรงแก่เกษตรกร ไม่ใช่เพียงสินเชื่อแก่ผู้ส่งออก พร้อมจัดตั้งหลักประกันความเสี่ยงราคาพืชผล และสนับสนุนปัจจัยการผลิตในราคาที่เป็นธรรม
- ปรับตัวเพื่ออนาคตยั่งยืน – เร่งพัฒนาระบบแปรรูปที่ทันสมัย ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เสริมสร้างกลุ่มเกษตรกร และขยายตลาดในกลุ่มประเทศ RCEP
- เปิดเผย-มีส่วนร่วม – รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการเจรจาและแผนการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ พร้อมจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับตัวแทนเกษตรกร และรับฟังความคิดเห็นจากภาคเกษตรกรรมก่อนตัดสินใจนโยบาย
ท้ายแถลงการณ์ สภาเกษตรกรฯ ย้ำว่าภาคเกษตรคือรากฐานความมั่นคงของชาติ และเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ใช้ผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นเครื่องต่อรองในเวทีการค้า พร้อมประกาศเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิและความมั่นคงของเกษตรกรไทยอย่างเต็มที่. -512 – สำนักข่าวไทย