กรุงเทพฯ 21 พ.ค. – นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเชื่อ การกดราคาภาคปศุสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ GDP ภาคเกษตรติดลบ กระทบ GDP รวม Q1/67 ชี้การบริโภคภาคเอกชนไม่มีปัญหา สินค้าอาหารพร้อมรับประทานที่มีเนื้อหมูเป็นวัตถุดิบซึ่งราคาสูงกว่าหมูหน้าฟาร์ม 10 – 12 เท่ายังจำหน่ายได้ แต่ภาครัฐกลับกดราคาขายของผู้เลี้ยง
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สคช. รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภายในประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ซึ่งขยายตัว 1.5% จากแรงส่งของการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่กลับกลายเป็นว่า GDP ภาคเกษตรติดลบถึง 3.5%
จากการติดตาม GDP ภาคเกษตรตั้งแต่ปี 2566 พบว่า ไตรมาส 1/2566 บวกสูงสุด แต่หลังจากนั้นโตต่ำมาโดยตลอด ในไตรมาส 1/2566 ที่ GDP ภาคเกษตรบวกสูงสุด สอดคล้องราคาสุกรขุนที่ยังสูงใกล้เคียงต้นทุนการผลิตในช่วงนั้น
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตของ GDP การบริโภคภาคเอกชนสะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป ไม่ได้ติดขัดในเรื่องของราคาสินค้า ดังจะเห็นได้ว่า สินค้าอาหารพร้อมรับประทานที่ใช้วัตถุดิบจากเนื้อสุกรจะมีราคาสูงขึ้น 5 – 8 เท่าจากราคาจำหน่ายปลีกและสูงกว่าราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม 10-12 เท่า แต่ความต้องการบริโภคในกลุ่มของ Food service ที่มีสินค้าเนื้อสุกรเป็นวัตถุดิบหลักยังเติบโตสูงมาก
ในทางตรงกันข้าม ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจะถูกภาครัฐกดไว้เช่นเดียวกับราคาภาคปศุสัตว์อื่นๆ เช่น ไก่ ไข่ เป็นต้น โดยมักกังวลว่า จะมีการโจมตีทางการเมืองว่า แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้จึงใช้วิธีกดราคาสินค้าการเกษตรโดยเฉพาะภาคปศุสัตว์
ทั้งที่จริงแล้ว การดูแลราคาสินค้าภาคเกษตรทั้งหมด ที่เป็นตัวคูณปริมาณการผลิต จะส่งผลดีต่อ GDP ภาคเกษตร หากเกษตรกรขายผลผลิตได้สูงกว่าต้นทุนซึ่งจะส่งผลดีต่อการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและลดภาระหนี้สินภาคครัวเรือนด้วย ส่งผลดีต่อ GDP ประเทศ
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวย้ำว่า การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนในนานาประเทศ ต่างมุ่งไปที่การพัฒนาอาชีพ การเข้าถึงรายได้ของทุกกลุ่ม และการพัฒนารูปแบบการประกอบอาชีพ รวมถึงการตลาดให้เข้ากับยุคสมัยเป็นหลัก ดังนั้นขอฝากให้ภาครัฐแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างมืออาชีพ โดยไม่ใช่ใช้วิธีควบคุมราคาสินค้าของภาคผู้ผลิตหรือราคาสินค้าเกษตรซึ่งสะท้อนให้เห็นจาก GDP ในช่วง 5 ปีย้อนหลังของประเทศไทยที่ต่ำลงมาก เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน . 512 – สำนักข่าวไทย