กรุงเทพฯ 6 มิ.ย. – นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติขอให้ดีเอสไอขยายผลตรวจสอบเขตปลอดอากรเพื่อดำเนินคดีขบวนการ “หมูเถื่อน” อย่างเด็ดขาด พร้อมขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบซ้ำ ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างในท่าเรือทุกแห่ง โดยเฉพาะท่าเรือคลองเตย รวมถึงห้องเย็นทั่วประเทศเพื่อให้มั่นใจว่า ปลอด “หมูเถื่อน” ที่จะเป็นปัจจัยกดดันราคาของผู้เลี้ยงที่ยังคงอยู่ในภาวะขาดทุนนานกว่า 1 ปี
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า ได้ติดตามการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการเข้าตรวจค้นซ้ำที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นการขยายผลจากการจับกุมหมูเถื่อน 161 ตู้ เมื่อปลายปี 2566 ซึ่งพบ “หมูเถื่อน” 17 ตู้คอนเทนเนอร์นั้น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติต้องการให้ดีเอสไอขยายผลการตรวจสอบเขตปลอดอากรของกรมศุลกากรเนื่องจากยังคงกังวลว่า อาจมีการระบายระบายหมูเถื่อนออกมา
ทั้งนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ทำหนังสือถึงดีเอสไอแจ้งถึงข้อกังวล 6 ข้อ ประกอบด้วย
- ปริมาณการซื้อ-ขายสินค้าสุกรในเขตปลอดอากร ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ได้มีการนำสินค้าประเภทซากสัตว์ ประเภทสุกร เครื่องในโค ตีนไก่ เข้ามาในประเทศไทย รวม 3,469 ตู้ (ล่าสุดดีเอสไอแจ้งว่า รวมเพิ่มเป็น 5,900 ตู้) ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับเลขคดีพิเศษ 126/2566 ที่มีการนำเข้าช่วงปี 2564-2566 จำนวน 2,388 ตู้ จาก 2,385 ใบขนสินค้าขาเข้า ที่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นย้อนหลัง ซึ่งต้องขยายผลในลักษณะเดียวกันกับที่เป็นความผิดต่างกรรมและมีจำนวนครั้งของการกระทำความผิดสูงมาก
- จำนวนลูกค้าผู้ซื้อต่อในประเทศไทยจากผู้กระทำความผิดในเขตปลอดอากรดังกล่าว จากประมาณ 100 ราย ของกลุ่มบริษัทในเขตปลอดอากรดังกล่าว ยังไม่มีการขยายผลแต่อย่างใด โดยพนักงานสอบสวนได้เก็บหลักฐานดังกล่าวมาไว้ในวันที่นำหมายเข้าตรวจและประเมินปริมาณการซื้อขาย 3 ปีย้อนหลัง มีจำนวนถึง 10,000 ล้านบาท ซึ่งหนึ่งในจำนวนลูกค้ามียอดซื้อขายสะสมสูงถึง 6,000 ล้านบาท โดยลูกค้าในกลุ่มนี้ถือว่า เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเช่นกัน ที่สามารถนำมาดำเนินคดี และยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงิน เพราะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมสุกรไทยอย่างมาก
- การกระจายสินค้าผิดกฎหมายในเขตอากรดังกล่าว จะกระทำในลักษณะของการนำสินค้าออกไปยังประเทศที่ 3 แต่ใช้การขนย้ายกลับเข้าประเทศ ในลักษณะกองทัพมด นำไปกระจายตามห้องเย็นต่างๆ ทั่วประเทศ จึงควรจขยายผลนำรายชื่อห้องเย็นในเครือข่าย มาตรวจสอบว่า รับรู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งน่าจะติดตามได้ไม่ยาก หลังมีการขึ้นทะเบียนห้องเย็น ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ตามโครงการการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการห้องเย็นตั้งแต่ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นไป ตามนโยบายการปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายที่มีกรอบเวลาที่สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
- ยังไม่มีการตรวจสอบย้อนหลังไปถึงการขออนุญาตประกอบการเป็นเขตปลอดอากร ซึ่งเป็นอำนาจการอนุมัติของอธิบดีกรมศุลกากร และสืบสวน สอบสวนกระบวนการตรวจสอบ หลังการได้รับการอนุมัติเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร ซึ่งถือว่า เป็นการกระทำความผิด ตามวัตถุประสงค์ของการขออนุญาตดังกล่าว
- ในการนำหมายเข้าตรวจบริษัทผู้กระทำความผิดในเขตปลอดอากรดังกล่าว ไม่ปรากฏการอายัดสินค้าในเขตปลอดอากรที่มีจำนวนสูงมาก ซึ่งคาดว่าสินค้าในเขตปลอดอากรดังกล่าว จะยังคงมีการปล่อยออกสู่ตลาดและกดดันราคาสุกรขุน ที่เป็นการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทยอย่างต่อเนื่อง
- จากรายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้บริหารสตรีท่านหนึ่งของบริษัทในกลุ่มที่เป็นเขตปลอดอากร มีความเชื่อมโยงถึงนายด่านกักกันท่านหนึ่ง (ของกรมปศุสัตว์) จึงขอทราบความคืบหน้าของการตรวจสอบข้าราชการท่านนี้ เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียต่อกรมปศุสัตว์โดยรวม เพราะสำนวนที่มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดที่ส่งไปยัง ป.ป.ช. 5 สำนวน (คดีพิเศษที่ 59/2566 ที่101/ 2566 ที่104/2566 ที่105/2566 และเลขคดีพิเศษที่ 106/2566) ยังไม่มีความคืบหน้า การทำความเห็น หรือ ส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ ซึ่งการกระทำความผิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นความเสี่ยงต่อเนื่อง จากการอำนวยความสะดวกให้เกิดการกระทำความผิดที่จะกระทบถึงตลาดสุกรไทย
นายสิทธิพันธ์กล่าวว่า ต้องการให้หน่วยงานภารรัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ “หมูเถื่อน” ที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศซ้ำอีกครั้ง ทั้งในห้องเย็นและท่าเรือต่างๆ โดยเฉพาะท่าเรือกรุงเทพฯ หรือท่าเรือคลองเตยที่ยังมีตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงต้องการให้ยกระดับการตรวจสอบตู้สินค้านำเข้าเช่นเดียวกับที่ท่าเรือแหลมฉบัง
ผู้เลี้ยงสุกรขาดทุนต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปีจากการที่ “หมูเถื่อน” กดดันราคา ประกอบต้นทุนการผลิตที่สูงจากทั้งปัจจัยของราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขยับตัวสูงขึ้นมากจนมาอยู่ที่ 11.20 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งจะทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ของการเลี้ยงสุกรจะสูงขึ้นอีก
ขณะที่ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มยังทรงตัว 68 – 76 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตซึ่งอยู่ที่ 80-82 บาทต่อกิโลกรัม แม้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย แต่ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่ได้ปรับเพิ่มเนื่องจากสภาวะฝนตกทั่วไทยกระทบการออกมาจับจ่ายของผู้บริโภค รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้การบริโภคชะลอตัว ทำให้ราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรชิ้นส่วนสะโพก หัวไหล่ มีราคาจำหน่ายปลีกใกล้เคียงราคาจำหน่ายปลีกของเนื้อไก่แล้ว
ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินคดีกับผู้กระทำตามกฎหมายทุกคนเพราะหมูเถื่อนเป็นปัจจัยทำให้เกิดหมูส่วนเกินที่กดดันราคาในตลาด เกษตรกรไทยไม่สามารถแข่งขันได้จึงจำเป็นต้องปราบปรามให้หมดสิ้น เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางอาหารของคนไทยและสนับสนุนให้ผู้เลี้ยงประกอบอาชีพได้ต่อไป. 512 – สำนักข่าวไทย