กรุงเทพฯ 5 ส.ค. – รมว.พลังงานเร่งทุกหน่วยงานปรับตัวรับ Disruptive Technology มั่นใจส่งผลต้นทุนค่าไฟถูกกว่า 3.62 บาท/หน่วย ด้าน กฟผ.รุกหารือจัดตั้งตลาดซื้ิอขายไฟฟ้าอาเซียนรับมือการเปลี่ยนแปลง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดวิสัยทัศน์ ในงานสัมมนา “Energy Dispution: พลังงานไทย ยุค…ดิสรัปชั่น ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า พลังงานทดแทน มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมีต้นทุนถูกลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น มีโอกาสที่ค่าไฟฟ้าอาจจะต่ำกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (พีดีพี 2018) คาดไว้ที่เฉลี่ย 3.62 บาท/หน่วย ซึ่งขณะนี้กำลังให้ปรับปรุงแผนพีดีพีเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้โรงไฟฟ้าชุมชน ระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) ที่จะเข้ามาช่วยกักเก็บพลังงานส่วนเกิน และ energy storage จะเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดังนั้น การเดินคู่ขนานระหว่าง energy storage กับ EV เป็นทิศทางของประเทศในอนาคตที่ต้องเร่งปรับตัวสู้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการย้ายฐานการผลิตไปสู่คู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเตรียมแผนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องให้เกิดการซื้ิอขายกันเองในรูป sand Box เป็นการรองรับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะมีรูปแบบนี้มากขึ้นส่งผลให้โรงไฟฟ้าฐานผลิตในช่วงกลางวันลดน้อยลง เพื่อแก้ปัญหานี้และลดการลงทุนในอนาคตทางอาเซียน จึงผลักดันร่วมกันให้เกิดตลาดค้าไฟฟ้าอาเซียนและประเทศไทยก็พร้อมเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในแง่ดี คือ สามารถผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าฐานส่งออกได้ และไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของระบบรวม โดยเรื่องนี้ต้องแก้ไข พ.ร.บ.กฟผ.ให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าในส่วนตลาดกลางซื้ิอขายไฟฟ้าระหว่างประเทศได้
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าเหมือนกับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งแนวทางนี้เป็นการเสริมความมั่นคงของแต่ละประเทศอาเซียน และรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย