กรุงเทพฯ 19 ก.ค.- “กลุ่ม 4 กุมาร” ที่มีนายอุตตม สาวนายน, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ยื่นหนังสือลาออกตำแหน่ง พร้อมนำหนังสือลาออกของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มามอบให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้ปรับคณะรัฐมนตรี ย้อนดูเส้นทางของนายสมคิด กับ “กลุ่ม 4 กุมาร” กัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชักชวนนายสมคิด มาร่วมรัฐบาล คสช. มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ถูกปรับออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558 และทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจต่อเนื่องมายาวนานกว่า 5 ปี
นายสมคิด ดึงทีม “4 กุมาร” เข้ามาร่วมทีมเศรษฐกิจ โดยนายอุตตม ร่วมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปี 2558 ก่อนเปลี่ยนมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2559-2562 ล่าสุด คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เช่นเดียวกับนายสุวิทย์ ที่เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีปี 2558 ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และปรับมาเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2559 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2560-2562 ตำแหน่งล่าสุด คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ขณะที่นายสนธิรัตน์ ร่วมคณะรัฐมนตรีในปี 2559 ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และขยับขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในปี 2560-2562 ล่าสุด คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ส่วนนายกอบศักดิ์ เข้ามาเป็นทีมงานของนายสมคิด ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2560-2560 และตำแหน่งล่าสุด คือ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 “4 กุมาร” ลาออกจากตำแหน่งเพื่อทำงานการเมืองเต็มตัว และว่ากันว่าเป็นการกรุยทางเพื่อรองรับการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่ “4 กุมาร” ตั้งพรรคพลังประชารัฐ และให้นายอุตตม เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ เป็นเลขาธิการพรรคฯ และนายกอบศักดิ์ เป็นโฆษกพรรค ซึ่งมีภารกิจสำคัญ คือ การพา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชนะการเลือกตั้งทั่วไป
แต่การการทำงานการเมืองไม่ง่าย เพราะ “4 กุมาร” ต้องเผชิญแรงกดดันจาก ส.ส.พลังประชารัฐ ให้เปลี่ยนหัวหน้าพรรค โดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 18 คนลาออก ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง
จากนั้นวันที่ 22 มิถุนายน แกนนำพรรค อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายสันติ พร้อมพัฒน์, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, นายอนุชา นาคาศัย, นายสุชาติ ชมกลิ่น และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ไปส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรค มารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค
ต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน ที่ประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐมีมติเลือก พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค โดยที่กลุ่ม “4 กุมาร” ไม่มีตำแหน่งใดๆ
ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม กลุ่ม “4 กุมาร” ตั้งโต๊ะแถลงข่าวลาออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในครั้งนั้นได้ชี้แจงเหตุผลสำคัญ คือ บรรลุภารกิจที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันต่อ “4 กุมาร” ยังไม่หมด เพราะมีเสียงเรียกร้องให้ปรับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ทั้งจากภายนอกและภายในพรรคพลังประชารัฐ จนนำมาสู่การลาออกของนายสมคิด และ “4 กุมาร” ในวันนี้ เพื่อเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีได้ปรับคณะรัฐมนตรี รวมระยะเวลาการทำงานในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” คือ 1 ปี 6 วัน.-สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 4 กุมาร ถึงทำเนียบฯ ยื่นหนังสือลาออกจาก รมต. ก่อนแถลงข่าว
- 4 กุมาร แถลงลาออกจาก รมต. ย้ำจากกันด้วยดี ยังไม่คิดตั้งพรรคใหม่ ขอพักก่อน