กระทรวงคลัง 29 ก.ค. – คลังปรับจีดีพีปี 64 ขยายตัวเพียง ร้อยละ 1.3 จากผลกระทบ ระลอกใหม่ ไวรัสโควิด-19 เตรียมศึกษาข้อเสนอมาตรการเยียวยาจากทุกส่วน เดินหน้าเจรจา Delivery Food จ่ายคนละครึ่ง ย้ำรายได้หด ยังรักษาระดับเงินคงคลัง 4 แสนล้านบาท ส่วนจีดีพีปี 65 ขยายตัว ร้อยละ 4 -5 ต่อปี จากการท่องเที่ยว และการส่งออกฟื้นตัว
นางสาวกุลยา ตันติเตมิทผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 64 ขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี ปรับลดลงจากครั้งก่อน ณ เดือนเมษายน 2564 ซี่งคาดการณ์ร้อยละ 2.3 ต่อปี เนื่องจาก ผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ ไวรัสโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจของไทย การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยอมรับว่าการประกาศล็อคดาวน์ ของรัฐบาลทำให้ประชาชน ออกมาใช้จ่าย และทำกิจการทางเศรษฐกิจไม่สะดวก เพื่อร่วมกันลดการแพร่เชื้อ มาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายจึงลดลง และคลังคาดว่า ยอดการติดเชื้อจะพีค สูงสุดตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม จากนั้นจะทยอยลดลง
ในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ผ่านมาตรการทางการคลัง ทั้ง โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ การเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ กระทรวงการคลังพร้อมศึกษาข้อเสนอจากทุกส่วนในการช่วยเหลือเยียวยารายย่อย ขณะนี้กำลังหาหรือกับผู้ให้บริการ Delivery Food 5 รายใหญ่ เช่น Grab Gojek ให้รับชำระเงินผ่าน โครงการ “คนละครึ่ง” ส่วนโครงการช้อปดีมีคืน ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 9 แสนรายในปี 63 ได้นำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน แต่มองว่าอาจส่งเสริมการใช้จ่ายไม่ดีนักในช่วงนี้ รวมทั้งเร่งรัดมาตรการด้านการเงินผ่านแบงก์รัฐ การใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท มีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค บรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงาน
คลังคาดว่าการบริโภคภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 9.5ต่อปี การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อปี ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มดีขึ้น ในช่วง 5เดือนแรกของปี 64 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงร้อยละ 14.5 ต่อปี คาดว่า ทั้งปี 64 ขยายตัว ร้อยละ 16.6 ต่อปี จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ร้อยละ11.0 ต่อปี
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวเร่งขึ้น ร้อยละ 4- 5 ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คาดว่ายอดนักท่องเที่ยวชาติ เดินทางเข้าไทย 12 ล้านคน ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี
กระทรวงการคลัง ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิดได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของ การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 2) ข้อจำกัดการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3) ความไม่แน่นอนของตลาดน้ำมันโลก จากปัญหาความขัดแย้งของหลายประเทศรุนแรงขึ้น 4) ทิศทางนโยบายการเงินโลก ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ สำหรับยอดหนี้สาธาณะของไทย ทยอยกู้เงินให้อยู่ภายใต้กรอบร้อยละ 60 ของจีดีพี ขณะที่เพดานหนี้สาธารณะยังปรับกรอบเพดานเพิ่มได้ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาในขั้นต่อไป
กระทรวงคลัง ยอมรับว่า แม้ว่ารายได้ของรัฐบาลหดหายไป เมื่อเศรษฐกิจทรุดตัว ยอดจัดเก็บรายได้ 2.67 ล้านล้านบาท พลาดเป้าหมาย 1.95 แสนล้านบาท ดังนั้นรายได้ที่ขาดหายไป คลังพิจารณาแล้ว จากกรอบวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ยังรองรับรายได้ที่ขาดหายไป ทำให้รัฐบาลมีเงินคงคลังบริหารจัดการได้ 4 แสนล้านบาทใน งบประมาณปี 64 .- สำนักข่าวไทย