กรุงเทพฯ 10 เม.ย. – สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB) หั่นจีดีพี ปี 68 เหลือ 1.8% แต่หากสหรัฐเก็บภาษีเพิ่มอีก เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ในไตรมาส 3-4 และจะฉุดจีดีพีเหลือเพียง 1.4% ส่วนดอกเบี้ยนโยบายปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 1.25% และอาจลดลงถึงระดับ 1.00% แนะเน้นลงทุนเชิงรับ รักษาเงินต้น เช่น พันธบัตรฯ หุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือดี ที่สำคัญไม่สร้างหนี้โดยไม่จำเป็น
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การที่นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศเลื่อนเก็บภาษีตอบโต้ประเทศต่างๆ ออกไป 90 วัน ซึ่งประเทศไทยเหลือการจัดเก็บเพียง 10% เท่ากับประเทศส่วนใหญ่ ยกเว้นจีนที่โดนภาษีที่ 125% เนื่องจากตอบโต้เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 84% นั้น ยังนับว่าไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าสหรัฐ ความไม่แน่นอน และความตึงเครียดที่ยืดเยื้อ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จึงปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2568 จาก 2.7% ลงเหลือ 1.8% อย่างไรก็ดี บนความไม่แน่นอน หากมีการจัดเก็บภาษีสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคใน Q3-Q4 และโตเพียง 1.4% แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยแม้เพียงเล็กน้อย และความผันผวนทั่วโลก เศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงหนักกว่าคาด
มาตรการภาษีทรัมป์จะทำการค้าโลกชะลอ การส่งออกอาจโตเพียง 1.4% การผลิต-การนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรลดลง การลงทุนชะลอตัว รายได้แรงงานและนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มอ่อนตัว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เปราะบาง ได้แก่ เหล็ก และอะลูมิเนียม ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยาและเวชภัณท์ อาจได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น เศรษฐกิจเติบโตชะลอ เงินเฟ้อต่ำ อาจเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ในกรณีนี้คาดว่า ธปท. จะไม่ลดดอกเบี้ยรุนแรง เพราะข้อจำกัดหลายประการที่ไม่เอื้อต่อการผ่อนคลายแบบครอบคลุม คาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ 1.25% หากเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าคาด อาจมีการลดดอกเบี้ยลงถึงระดับ 1.00% ถ้าแรงกดดันจากภาษียังอยู่ เงินเฟ้อเร่งตัว ธปท. อาจใช้มาตรการเฉพาะจุด เช่น ช่วยเหลือหนี้ SMEs และอัดฉีดสภาพคล่อง แทนการเน้นลดดอกเบี้ย
ขณะที่มาตรการการคลังจะมีบทบาทมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากความกังวลต่อสินเชื่อที่อ่อนแอ และความเสี่ยงภาวะกับดักสภาพคล่อง โดยเฉพาะหากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคยังไม่ฟื้น
ค่าเงินบาท คาดว่าจะอ่อนค่าช่วงกลางปี ก่อนจะทรงตัวปลายปี จากปัจจัยที่ดอลลาร์แข็งค่าในภาวะตลาดผันผวน กดดันค่าเงินประเทศเกิดใหม่รวมถึงค่าเงินบาท ดังนั้น เงินบาทอาจอ่อนค่า Q2 จากการไหลออกของเงินทุน การนำเงินปันผลกลับประเทศ รายได้ท่องเที่ยวทรงตัวหรือชะลอลง นอกจากนี้ ส่วนต่างดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น ระหว่างไทยกับสหรัฐ กดดันเงินบาทเพิ่มเติม อยากให้ระวังเงินบาทผันผวนอ่อนค่าอีกครั้งช่วงปลายปีหากมีความไม่แน่นอนในการเก็บภาษีที่สูงขึ้น ฐานท่องเที่ยวไทยที่แข็งแกร่ง และผลกระทบจากสงครามการค้าที่จำกัด อาจช่วยให้เงินบาทเป็น “สินทรัพย์ปลอดภัย” ระดับภูมิภาคได้บางส่วน ภาคการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มเพียงเล็กน้อย คาดว่าจะมี 37.1 ล้านคนปีนี้ เทียบกับ 35.5 ล้านคนปีก่อน
หากย้อนกลับไปดู ไทม์ไลน์ วันที่ 2 เมษายน 2568 ทรัมป์ประกาศเก็บภาษี “ตอบโต้เท่าเทียม” (Reciprocal Tariffs) กับหลายประเทศ โดยให้เหตุผลว่าชาติเหล่านั้นได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม และเรียกว่าเป็น ‘วันปลดแอก’ ของสหรัฐฯ จึงบอกได้ว่า สหรัฐต้องการลดการพึ่งพาจีนและพันธมิตรที่ไม่แท้จริงของสหรัฐฯ ต้องการนำรายได้จากภาษีมาลดหนี้สาธารณะ และเตรียมแผนลดภาษีภายในประเทศ และข้อเสนอทางออกของสงครามการค้า ได้แก่ ลดภาษีนำเข้า ยกเลิกมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี หยุดแทรกแซงค่าเงิน นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มี 2 แนวโน้มที่เป็นไปได้ในอนาคต คือ
แนวโน้มที่ 1 : เศรษฐกิจโตช้า (Slow Growth) GDP สหรัฐลดลงจาก 2.1% มาอยู่ที่ 1.4% ชาวอเมริกันบริโภคน้อยลง เก็บออมมากขึ้น เลื่อนการลงทุนใหม่ เงินเฟ้อพุ่งจาก 3% ไปที่ 3.7% ด้านดอกเบี้ย เฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้ หรือ ลดดอกเบี้ยครั้งเดียวช่วง Q4 ปี 2568 ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับยูโรและสกุลเงินกลุ่ม G7 แต่แข็งค่าไม่มากเทียบตลาดเกิดใหม่ แนวโน้มนี้มีความน่าจะเป็น 80%
แนวโน้มที่ 2 : เศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อย (Mild Recession) GDP สหรัฐ หดตัว -0.2% จากผลกระทบของ reciprocal tariff ความไม่แน่นอนทางนโยบาย และการตอบโต้ ด้านภาคครัวเรือนชั้นกลางถึงรายได้สูง อาจลดการใช้จ่ายลง เงินเฟ้ออยู่ราว ๆ 5% ในปี 2568 Fed อาจกลับมาเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หรืออย่างน้อยก็จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมไปถึงปี 2569 เงินดอลลาร์จะแข็งค่าอย่างมากและถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงวิกฤต การลดการพึ่งพาโลกาภิวัตน์อาจทำให้การค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก กระทบต่อ GDP ในระยะยาว แนวโน้มนี้มีความน่าจะเป็น 20%
แนะแนวทางยู่รอดในยุคความผันผวนทรัมป์
• ด้านการการลงทุน – เน้นเชิงรับ รักษาเงินต้น เช่นพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือดีในอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่ำ เพิ่มเงินสดสำรอง กระจายลงทุนข้ามภูมิภาค
• การบริโภค – ใช้จ่ายอย่างมีสติ เก็บออมเผื่อฉุกเฉิน เลี่ยงการกู้เกินจำเป็น
• SMEs – วางแผนระยะสั้น คุมต้นทุน ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์
• ธุรกิจขนาดใหญ่ – ป้องกันความเสี่ยง ใช้ซัพพลายเชนในประเทศ ขยายสู่ตลาดอาเซียน
“ผลกระทบต่อไทย คือ การส่งออก แม้ว่าการกีดกันการค้าจากจีน จะส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้มากขึ้น แต่ไม่สามารถทดแทนสินค้าที่เราส่งออกไปจีนและในภูมิภาคได้ ด้านการลงทุน อาจมีการย้ายฐานกลับสหรัฐ หรือ นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ และด้านการท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวอาจชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น สิ่งที่คนไทยต้องให้ความสำคัญคือ รักษาสภาพคล่องให้ดี ดูแลควบคุมต้นทุน ลดความเสี่ยง และไม่สร้างหนี้โดยไม่จำเป็น” นายอมรเทพ กล่าว. -517-สำนักข่าวไทย