ศปถ.แถลง 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ ดับแล้ว 27 ราย

กรุงเทพฯ 12 เม.ย. – ศปถ. แถลง 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 211 ครั้ง บาดเจ็บ 201 คน เสียชีวิต 27 ราย กทม. แชมป์ 5 ศพ สาเหตุขับรถเร็ว พร้อมกำชับช่วงวันเฉลิมฉลอง ส่งตำรวจพื้นที่จัดงาน-ปั๊มน้ำมัน สังเกตพบพฤติกรรมเมาจับตรวจแอลกอฮอล์และให้พักทันที


นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงษ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการประชุมครั้งแรกหลังจากเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ 2568 ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน ภายใต้ชื่อ “ขับขี่ปลอดภัยเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้น 211 ครั้ง ลดลงจากปีที่แล้ว 13.52%

จังหวัดมุกดาหาร เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 11 ครั้ง รองลงมาจังหวัดสุพรรณบุรี 9 ครั้ง และจังหวัดพังงา จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเพชรบุรี 8 ครั้ง ผู้บาดเจ็บที่ต้องนอนโรงพยาบาล 201 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 19.92%


จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดคือ จังหวัดมุกดาหาร 12 คน รองลงมา ได้แก่ จังหวัดพังงา และจังหวัดสุพรรณบุรี 9 คน และจังหวัดราชบุรี จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน และจังหวัดเชียงราย 8 คน

ผู้เสียชีวิต 27 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 27.03% จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ กรุงเทพฯ 5 ราย รองลงมา ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดตราด จังหวัดนครปฐม จังหวัดลพบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุดรธานี 2 ราย โดยสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากขับรถเร็ว 86 ครั้ง ตัดหน้ากระชั้นชิด 52 ครั้ง ดื่มแล้วขับ 48 ครั้ง

ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ส่วนพฤติกรรมของผู้ประสบเหตุที่เกิดขึ้นคือ การขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย 114 คน และขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด 5 คน ดื่มแล้วขับ 45 คน ตัดหน้ากระชั้นชิด 24 คน


สำหรับประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ 179 คัน รองลงมาเป็นรถปิกอัพหรือรถกระบะ 12 คัน รถเก๋ง 10 คัน

ส่วนการเสียชีวิต กรณีการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 12 ราย เสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล 2 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 13 ราย โดยสาเหตุของผู้ที่เสียชีวิต อันดับ 1 คือ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 16 ราย พฤติกรรมเสี่ยงคือขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยไม่สวมหมวกนิรภัย จำนวน 11 ราย

สำหรับด่านชุมชนมีจำนวน 7,371 ด่าน ในการป้องปรามและลดพฤติกรรมเสี่ยง พบว่าพฤติกรรมดื่มแล้วขับยังมีจำนวนมากอยู่ 1,237 คน จังหวัดที่มีผลของการดำเนินงานในด่านชุมชนสูงสุดคือ ขอนแก่น และที่ด่านชุมชนพบว่าไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5,137 คน จังหวัดที่พบคือ ปัตตานี ส่วนการไม่สวมหมวกนิรภัย ที่ด่านชุมชน 12,847 คน คือจังหวัดตาก สำหรับความปลอดภัยของยานพาหนะ จำนวน 922 คน จังหวัดที่มีการดำเนินการสูงสุดคือ อุบลราชธานี และพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ 586 คน คือจังหวัดอุดรธานี

สำหรับสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติวันที่ 11 เมษายน ทั้งหมด 326 คดี มีการสั่งการให้ติดกำไล EM จำนวน 9 ราย คดีตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 276 คดี ติดกำไล EM 1 ราย คดีขับแล้วเสพ 47 คดี ติดกำไล EM 8 ราย ขับรถประมาท 3 คดี จังหวัดที่มีสถิติขับรถขณะเมาสุรา 3 ลำดับแรกคือ จังหวัดนนทบุรี 40 คดี จังหวัดสมุทรปราการ 35 คดี และจังหวัดกำแพงเพชร 27 คดี

พร้อมกันนี้ นายแพทย์โอภาส กล่าวถึงการรับมือช่วงวันเฉลิมฉลองว่า คงต้องเน้นย้ำตำรวจในการตั้งด่านต่างๆ ให้สังเกตพฤติกรรม ไม่ใช่แค่ตั้งด่านเฉยๆ ซึ่งรอง ผบ.ตร. ได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและตัวแทนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง ให้ใช้ความระมัดระวัง และเพิ่มความละเอียดกำชับเข้มงวด รวมถึงนำข้อมูลต่างๆ มาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม วันนี้พบว่ามีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนอกจากการดื่มแล้วขับแล้ว ยังมีการบริโภคยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้บางอย่างจะทำให้ง่วงนอน แต่ยังมียาคลายกล้ามเนื้อก็ทำให้ง่วงนอนเช่นกัน จึงอยากฝากประชาชนให้ดูแลในเรื่องนี้ด้วย เพราะการง่วงนอนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเสียชีวิต ดังนั้น ถ้าง่วงนอนก็ขอให้จอดรถนอกพัก 10-20 นาที และดื่มเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ อาจทำให้สดชื่นได้ ถ้าหากง่วงก็อย่าฝืน ชีวิตความปลอดภัยสำคัญกว่า

ด้าน พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ตำรวจทั่วประเทศลงไปพื้นที่จัดงาน ไม่ว่าจะเป็นงานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรืองานกินเลี้ยงกันภายในหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อสร้างการรับรู้ให้รู้ว่าผู้จัดงานต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบถ้ากรณีผู้ที่มาร่วมงานมีอาการมึนเมาสุราขับขี่ออกไปแล้วเกิดอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้นจะเข้าไปประชาสัมพันธ์ทุกจุดหน้างาน หากพบจะขอให้พักอยู่ในพื้นที่จัดงาน หรือส่วนราชการใกล้เคียง หรือหน่วยบริการประชาชน และพยายามทำให้ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่สามารถครองสติได้ขับขี่รถให้น้อยที่สุด ซึ่งผู้จัดงานต้องให้ความร่วมมือในการสอดส่องดูแลผู้ที่มาร่วมกิจกรรม ถ้าดื่มสุราจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ก็ไม่ควรปล่อยให้ออกจากพื้นที่จัดงาน

นอกจากนี้มีการเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปอยู่ในปั๊มน้ำมัน เพราะคนดื่มสุรามักจะปวดปัสสาวะและต้องการเข้าห้องน้ำ หากเราสังเกตเห็นพฤติกรรมเดินเซ หน้าแดง จะมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ และนำส่งหน่วยบริการประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อให้ได้พักก่อนที่จะขับขี่รถ.-314-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ค้นหาร่างใต้ตึกถล่ม

คาดไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทราบชัดมีผู้ติดค้างในซากอาคาร สตง.หรือไม่

คาดไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะทราบชัดมีผู้ติดค้างในซากอาคาร สตง. หรือไม่ ปัจจุบันการทำงานบริเวณทางเชื่อมด้านอาคารจอดรถด้านหลังยังลงไปไม่ถึงพื้นของชั้นใต้ดิน

ผบ.ตร. สั่งเร่งตรวจสอบ ตร.พาผู้ต้องหาลอบนำข้อสอบฯ ออกจากโรงพัก

ผบ.ตร. สั่งเร่งตรวจสอบกรณีมีตำรวจพาผู้ต้องหาลักลอบนำข้อสอบฯ ออกจากโรงพัก ทั้งที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ย้ำใครผิดว่าไปตามผิด

รวบมือปาหิน

รวบแล้วมือปาหินใส่รถ ย่านบางนา-ตราด อ้างขาดสติเพราะดื่มเหล้า

รวบแล้วมือปาหินใส่รถประชาชน ย่านบางนา-ตราด อ้างขาดสติเพราะดื่มเหล้า พบประวัติเคยถูกจับมาแล้ว 12 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 13

ข่าวแนะนำ

กำชับเฝ้าระวังโรค “แอนแทรกซ์” เข้มข้น

“สมศักดิ์” กำชับเฝ้าระวังโรค “แอนแทรกซ์” เข้มข้น จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจำกัด-ยับยั้ง การแพร่ระบาด พร้อมเตือนรับประทานหมูดิบ เสี่ยงโรคหูดับตลอดชีวิต

ผู้ว่าฯ กทม. คาด 4 วันเคลียร์ซากตึก สตง. ก่อนส่งคืนพื้นที่

ผู้ว่าฯ กทม. คาด 4 วัน เคลียร์พื้นที่ซากอาคาร สตง. เพื่อค้นหาผู้สูญหายได้หมด ก่อนส่งมอบพื้นที่คืนหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป

บราซิลทำลายแผนวางระเบิดฟรีคอนเสิร์ต ‘เลดี้ กาก้า’

ตำรวจบราซิลทำลายแผนโจมตีงานฟรีคอนเสิร์ตของ “เลดี กากา” ที่จัดขึ้นที่บริเวณชายหาดโคปาคาบานา นครริโอเดจาเนโร เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กลุ่มวางแผนก่อเหตุเป็นพวกเครือข่ายดิจิตอลที่สนับสนุน