5 มีนาคม 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Politifact (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
ข้อมูลด้านชีววิทยาวิวัฒนาการสมัยใหม่ยืนยันว่าเชื้อโรคสามารถกลายพันธุ์ให้มีความรุนแรงน้อยลงหรือมากขึ้นก็ได้
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทาง Facebook ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าเชื้อโรคที่กลายพันธุ์จะลดความรุนแรงของโรคไปเรื่อยๆ ถ้าเชื้อโรคกลายพันธุ์แล้วเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น โฮสต์หรือผู้รับเชื้อที่เชื้อโรคใช้พึ่งพิงจะเสียชีวิตกันหมด และมนุษย์อาจจะสูญพันธุ์ไปนานแล้ว โดยผู้โพสต์ยกตัวอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา และการระบาดของไวรัส HIV ในประเทศยูกันดาที่ลดความรุนแรงลงเรื่อยๆ
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
การเหมารวมว่าเชื้อโรคที่กลายพันธุ์จะลดความรุนแรงของโรคไปเรื่อยๆ เป็นการกล่าวอ้างที่ขัดแย้งกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพราะเชื้อโรคสามารถกลายพันธุ์แล้วมีความรุนแรงมากขึ้นหรือลดลงก็ได้
แอนดรูว์ รีด ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัย Penn State University กล่าวว่า การอ้างว่าเชื้อโรคที่ปรับตัวได้ดีจะลดความรุนแรงเพื่อเลี่ยงการทำร้ายโฮสต์ของตนเองมากเกินไม่เป็นความจริงเสมอไป ข้อมูลด้านชีววิทยาวิวัฒนาการสมัยใหม่ยืนยันว่าเชื้อโรคสามารถกลายพันธุ์ให้มีความรุนแรงน้อยลงหรือมากขึ้นก็ได้
ไวรัสไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง จึงต้องอาศัยเซลล์ของโฮสต์ในการผลิตโปรตีนที่จำเป็นต่อการขยายพันธุ์ ยิ่งมีเวลาในการขยายพันธุ์มาก โอกาสที่จะเกิดการผ่าเหล่าระหว่างการแบ่งตัวก็มีสูง ซึ่งไวรัสที่กลายพันธุ์จะมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งความสามารถในการแพร่เชื้อและความรุนแรงของโรค ซึ่งปัจจัยอาจเกิดจากความกดดันจากการเลือกสรร (Selective Pressure) หรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
ความเชื่อที่ว่าเชื้อโรคจะลดความรุนแรงลงเรื่อยๆ เป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อ ธีโอบอลด์ สมิธ นักพยาธิวิทยาชาวอเมริกัน ตั้งข้อสังเกตว่าสัตว์ในฟาร์มที่ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากเห็บเป็นพาหะ จะมีอาการรุนแรงน้อยลง เมื่อเทียบกับการติดเชื้อก่อนหน้า
มีทฤษฎีทางเลือกที่เสนอแนวคิดว่า วิวัฒนาการของเชื้อโรคขึ้นอยู่กับการถ่วงดุลระหว่างความต้องการใช้ร่างกายของโฮสต์เป็นเครื่องมือในการแพร่เชื้อ และความเสี่ยงที่จะทำอันตรายต่อร่างกายของโฮสต์ที่ตัวเองอาศัยอยู่
ทฤษฎีดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงในแวดวงชีววิทยาวิวัฒนาการ เนื่องจากมีการศึกษาที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวแค่บางส่วน ปัจจัยอื่นๆ เช่น การมีอยู่ของวัคซีนและปริมาณของโฮสต์ที่ใช้ในการแพร่เชื้อล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องใช้พิจารณา
เช่นกรณีของไวรัส HIV ซึ่งมีคุณสมบัติปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว แม้ในบางพื้นที่ไวรัสจะก่อความรุนแรงของโรคลดลง แต่อาจจะไปก่อความรุนแรงเพิ่มขึ้นยังพื้นที่อื่นๆ ก็เป็นได้
มีไวรัสหลายชนิดที่สามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายยิ่งขึ้นเช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัส HIV ที่ให้กำเนิดสายพันธุ์ดื้อยาหลายชนิด ส่วนไวรัสอีโบลาและไวรัสซิกามีการปรับตัวเข้ากับร่างกายของโฮสต์ด้วยการกลายพันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อสูงสุด ส่วนไวรัส Myxoma ซึ่งแพร่เชื้อในกระต่าย เคยเชื่อว่าเป็นไวรัสที่ทำให้การติดเชื้อซ้ำมีความรุนแรงลดลง ก็พบว่าการติดเชื้อในภายหลังมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
เชื้อโรคไม่มีความจำเป็นต้องรักษาชีวิตของโฮสต์เพื่อแพร่เชื้อและขยายพันธุ์ เช่นในกรณีของเชื้อมาลาเรีย การติดเชื้อแต่ละครั้งอาจเกิดจากมาลาเรียหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ก่อโรคที่รุนแรงกว่าจะได้เปรียบสายพันธุ์ที่ก่อโรคน้อยกว่า ด้วยการฆ่าโฮสต์ก่อนที่สายพันธุ์อื่นๆ จะทำการขยายพันธุ์ได้สำเร็จ และทำให้สายพันธุ์ของตัวเองได้ประโยชน์สูงสุดจากการแพร่เชื้อ
ในส่วนของไวรัสโควิด 19 ถือเป็นไวรัสที่มีอัตราแพร่เชื้อสูงสุดในระยะที่ผู้รับเชื้อยังไม่แสดงอาการ ดังนั้นความเป็นอันตรายต่อโฮสต์อาจไม่ใช่อิทธิพลต่อวิวัฒนาการของไวรัสอย่างที่ทฤษฎีทางเลือกเสนอแนะ
ดร.อาเมช อดัลจา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัย Johns Hopkins University กล่าวว่า ถ้ามองในเชิงมานุษยรูปนิยม ไวรัสมีความต้องการแค่แพร่เชื้อและขยายพันธุ์ ถ้าวิธีที่ดีที่สุดในการแพร่เชื้อของมันคือการก่อโรคที่รุนแรง ไวรัสชนิดนั้นก็จะรักษาระดับความรุนแรงของโรคเอาไว้ต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.politifact.com/factchecks/2021/dec/08/facebook-posts/viruses-and-other-pathogens-can-evolve-become-more/
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter