ศาลรัฐธรรมนูญ 22 ต.ค.-ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ ไม่รับ 2 คำร้อง ที่ขอวินิจฉัยว่า กกต.จัดเลือก สว.ไม่สุจริตเที่ยงธรรม เหตุไม่เข้าข่ายรับไว้พิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ โดยมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องที่นายภิญโญ บุญเรือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเลขาธิการ กกต. กำหนดวิธีลงคะแนนและรูปแบบบัตรลงคะแนน โดยมิได้ใช้วิธีลงคะแนนลับ ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 33 และออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการมีลักษณะอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 11 วรรคสอง และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 50 (10) และมาตรา 107 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 4 มาตรา 33 และมาตรา 59
โดยศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้อง นายภิญโญโต้แย้งการดำเนินการของผู้ถูกร้องทั้งสอง และการออกระเบียบและประกาศ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หากนายภิญโญเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ร้องอาจใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมต่อศาลอื่นได้ เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้วตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47(2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 233
นอกจากนี้ยังมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ในคำร้องที่นายคงเดชา ชัยรัตน์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (5) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (5) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (5) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 และการกระทำของ กกต. และเลขาธิการ กกต.ในการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้อง นายเดชากล่าวอ้าง ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (5) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (5) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (5) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 เป็นกรณีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และมาตรา 231 (1) กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47(2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น นายเดชา ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
ส่วนกรณีที่นายเดชาอ้างว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองในการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ นั้น เป็นกรณีนายเดชาขอให้ตรวจสอบ การจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 บัญญัติกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้วตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้นนายเดชาไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213.-314.-สำนักข่าวไทย