29 ม.ค. – กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังอันตรายจากสารตกค้างที่มากับ “ผลไม้มงคล” แนะล้างทำความสะอาดก่อนบริโภค
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นช่วงเวลาการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ มีการเตรียมซื้อวัตถุดิบอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีความหมายเป็นมงคล ซึ่งผลไม้ที่มีความหมายเป็นมงคล เช่น ส้ม องุ่น แอปเปิล สาลี่ และกล้วย เป็นที่นิยมในเทศกาลนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่อาจตกค้างมากับผลไม้มงคลเหล่านี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้เฝ้าระวังเพื่อติดตามสถานการณ์การตกค้างในผลไม้อย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับข้อมูลการตรวจตัวอย่างผลไม้ 5 ชนิดข้างต้นในปี 2563 – 2564 ซึ่งเก็บจากแหล่งจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 298 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือขั้นสูงด้วยเทคนิค LC-MS/MS และ GC-MS/MS ตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 132 ชนิด ผลการตรวจดังนี้
ส้ม จำนวน 91 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 71 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 78 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, โปรฟีโนฟอส, ไซเพอร์เมทริน และคาร์เบนดาซิม
องุ่น จำนวน 79 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 36 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 46 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ เมทโทมิล, ไพริเมทานิล, คลอร์ฟีนาเพอร์ และเมทาแล็กซิล
แอปเปิล จำนวน 77 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 20 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 26 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, ไซเพอร์เมทริน แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน, ไซฟลูทริน และไพริเมทานิล
สาลี่ จำนวน 37 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 16 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน, ไบเฟนทริน, คาร์เบนดาซิม และบูโพรเฟซิน
กล้วย จำนวน 14 ตัวอย่าง พบการตกค้างจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 21 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส
จากการตรวจพบสารสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สื่อสารข้อมูลการตรวจพบนี้ ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อประกอบการดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ก่อนรับประทานผลไม้ทุกครั้ง ควรนำมาล้างทำความสะอาดสำหรับผลไม้ที่มีเปลือก เช่น ส้ม สาลี่ ให้แช่น้ำก่อนแล้วล้างด้วยน้ำไหลและใช้มือถูเปลือกไปพร้อมกัน ส่วนผลไม้เปลือกบาง เช่น องุ่น ให้นำไปล้างด้วยน้ำไหลผ่านก่อน แล้วนำไปแช่ในน้ำสะอาดทั้งพวงโดยไม่ต้องเด็ดออกเป็นลูก เนื่องจากอาจจะทำให้สารเคมีที่ละลายอยู่ในน้ำซึมเข้าทางแผลที่ขั้วหรือเปลือกได้ นอกจากนั้นการปอกเปลือกออกก่อนรับประทานจะเป็นการลดปริมาณสารตกค้างได้ เป็นอย่างดีเพราะสารตกค้างส่วนใหญ่จะติดอยู่ที่เปลือกของผลไม้” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว. – สำนักข่าวไทย