รร.แกรนด์ริชมอนด์ 24 มิ.ย.- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังโอไมครอน BA.4–BA.5 หลังพบในไทยติดเชื้อแล้ว 181 คน ย้ำอย่ากังวล ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม พร้อมเฝ้าระวังผู้ป่วยอาการรุนแรงส่งตรวจหาสายพันธุ์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และการกลายพันธุ์ในประเทศไทยว่า จากการกลายพันธุ์โควิด-19 BA.4 และ BA.5 ทำให้ประชาชนเกิดความกังวัล ข้อมูลทั่วโลกหลังมีการระบาดของโควิดกว่า 2 ปี มีสายพันธุ์ที่น่ากังวลเหลืออยู่สายพันธุ์เดียวก็คือโอไมครอน ซึ่งระบาดอยู่เป็นส่วนใหญ่ จากการตรวจแทบไม่มีสายพันธุ์อื่นปนมาแล้ว แต่โอไมครอนก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ จนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่มีการกลายพันธุ์ของลูกหลาน ซึ่งสายพันธุ์ย่อยที่น่าจะต้องเฝ้าระวังมีอยู่ประมาณ 5 ถึง 6 ตัว โดยเฉพาะ BA.4 และ BA.5 ซึ่งเข้าข่ายอาจมีการแพร่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ จะเห็นได้ว่า BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R กลายพันธุ์คล้ายกับเดลตา ทำให้เกิดการอักเสบในปอดได้มากขึ้น
นพ.ศุภกิจ ระบุว่าจากการสุ่มตรวจในไทย พบว่ามีการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 รวม 181 คน จาก 400 ตัวอย่าง พบรายแรกตั้งแต่ช่วงเมษายน เป็นผู้ที่เดินทางเข้าไทย 48 ราย และติดเชื้อในประเทศ 133 ราย ส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสุ่มตัวอย่างมาตรวจมากที่สุด
ขณะที่สัดส่วนการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทยขณะนี้ ร้อยละ 53.8 ยังคงเป็นโอไมครอน BA.2 รองลงมา คือ โอไมครอน BA.4 และ BA.5 ร้อยละ 45.8 และร้อยละ 0.5 เป็นเชื้อโอไมครอน BA.1
นพ.ศุภกิจ ระบุว่า ข้อมูลสถานการณ์การระบาดทั่วโลกองค์การอนามัยโลก พบว่า BA.5 น่าจับตาใกล้ชิด เนื่องจากพบในสัดส่วนที่สูงขึ้น และพบแล้วใน 62 ประเทศ แต่สายพันธุ์ BA.4 BA.2 BA.2.12.1 มีแนวโน้มลดลง คาดว่าสายพันธุ์ BA.5 จะเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกและประเทศไทย จากข้อมูลทางห้องปฏิบัติการพบว่าแพร่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับ BA.2 ขณะที่แอนติบอดีทำลายเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้น้อยลง การให้ยารักษาในผู้ป่วยบางราย ไม่มีภูมิมากพอ ทำให้ยาตอบสนองน้อยลง
ในกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์อื่นมาก่อน มีโอกาสจะติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ซ้ำได้ แต่หากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นและมีภูมิมากพอจะสู้ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
โดยย้ำว่าอย่าเพิ่งกังวลมากไป เนื่องจากเรากำลังเปิดประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการให้ชีวิตดำเนินไปได้ ซึ่งจากข้อมูลในต่างประเทศ เช่น ในสหราชอาณาจักร สหรัฐ แม้จะพบว่า BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วกว่า BA.2 จริง ขณะที่ใน ฝรั่งเศส เยอรมัน แพร่ไม่ต่างกัน แต่ในบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส กลับได้แพร่ต่ำกว่า BA.2 จึงต้องจับตาดูต่อไป
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวด้วยว่าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในไทย มีการตรวจแบบเร็วรู้ผล 1 วัน โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ยังคงทำหน้าที่ต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการลดจำนวนตรวจ และอีกวิธีคือการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งใช้ประมาณ 1 สัปดาห์ มีการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานกลาง GISAID หรือ จีเซด ยืนยันว่า ตรวจได้ทั้งหมด ไม่มีเชื้อตัวไหนหลบ ไม่ได้มีการปกปิดข้อมูล โดยหลังพบเชื้อสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ยังไม่พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากพบให้โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยอาการรุนแรง ให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ และย้ำมาตรการด้านสาธารณสุข โดยขณะนี้ยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการ -สำนักข่าวไทย