สธ. 23 มี.ค.- กรมวิทย์ฯ แจงไทยพบโอไมครอน 99.9% เดลตาแค่ 1 ตัวอย่าง ลดโอกาสเจอ ‘เดลตาครอน’ ในไทย สัดส่วนสายพันธุ์ย่อยโอไมครอน BA.2 เพิ่มขึ้น 78.5% เนื่องจากมีความสามารถแพร่เร็ว 1.4 เท่า ขณะที่ส่งข้อมูลเข้าข่ายเดลตาครอน 73 ตัวอย่าง ให้ GISAID พบตั้งแต่ ธ.ค.
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าผลการตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 ในไทย พบว่าจากการเก็บตัวอย่างจำนวน 1,981 ตัวอย่าง ขณะนี้พบเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนถึง 99.9% เดลตาแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้น เท่ากับว่าโอกาสที่จะพบการกลายพันธุ์ หรือ ไวรัสพัฒนาเป็นเดลตาครอนแทบไม่มีแล้ว เนื่องจากไม่มีเชื้อเดลตาหลงเหลืออยู่ ขณะเดียวกันพบว่าสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนที่พบในไทย สัดส่วนของ BA.2 เพิ่มมากขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 18% เป็น 78.5% เรียกว่าเบียดสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ โดย BA.2 มีความสามารถในการแพร่โรคเร็วกว่า BA.1 ถึง 1.4 เท่า
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หากมองในรายละเอียดของผู้เสียชีวิตจะพบว่า เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 ถึง 60.64% แต่ไม่ได้หมายความว่าเชื้อ BA.2 มีความรุนแรง หรือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต เนื่องจากการป่วยและติดเชื้อต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ถึงจะมีอาการรุนแรง ส่วนสายพันธุ์ย่อยลงไปของ BA.2 ที่พบในต่างประเทศ ฮ่องกง BA.22 หรือ BA.23 ยังไม่มีรายงานเพิ่ม ส่วนกรณีของเดลตาครอน ที่มีการติดตามของ GISAID นั้น พบว่าในการรายงานผลที่ทั่วโลกมีการส่งข้อมูลไปให้ยืนยันกว่า 4,000-5,000 ตัวอย่างในจำนวนนี้ก็มีตัวอย่างของไทยที่ส่งไปด้วยเช่นกัน 73 ตัวอย่าง ทาง GISAID ยืนยันให้เป็นเดลตาครอนจริงแค่ 64 ตัวอย่าง พบในฝรั่งเศส 50 ตัวอย่าง ส่วนที่เหลือกระจายในประเทศอื่นๆ โดยนิยามว่าเป็น เดลตาครอน คือ การผสมรวมกันออกลูกหลานกลายเป็นไฮบริด หรือเกิดเป็นตัวใหม่ ทั้งนี้ในส่วนของเดลตาครอนที่พบในไทยเป็นการพบเมื่อราวเดือนธันวาคม ไม่ใช่ตอนนี้ เพราะขณะนี้ไม่หลงเหลือในไทยมากแล้ว และผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอาการรุนแรง
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า คุณสมบัติของโอไมครอนอย่างหนึ่ง คือ หลบภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดี จะเห็นคนติดเดลตามาแล้ว ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดโอไมครอนซ้ำ มีโอกาสเป็นอีกได้ เพราะฉะนั้นวัคซีนไม่ว่าอะไรฉีด 2 เข็มนานพอควร ภูมคุ้มกันอาจตก ป้องกันติดเชื้อไม่ได้ จะต้องมากระตุ้นซ้ำ เพราะช่วยป้องกันป่วยตายได้พอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ซึ่งอัตราการติดเชื้อเสียชีวิตยังสูง ควรรีบมารับวัคซีน .-สำนักข่าวไทย