เชียงราย 23 ก.พ. – “พระอาจารย์พบโชค” วัดห้วยปลากั้ง ยอมรับโลกเปลี่ยนเร็ว รูปแบบทำบุญเปลี่ยนไป สอนธรรมะต้องเปลี่ยนตาม ยึดหลักพรหมวิหาร 4 ขัดเกลาจิตใจ ให้ข้อคิดมีสติแยกแยะข้อมูลยุค AI ย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน
พระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค) เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง อ.เมือง จ.เชียงราย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมาเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ การบริจาคเงินบริจาคทรัพย์น้อยลง มีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริจาคโดยใช้การสแกน QR Code ซึ่งเป็นการเปลี่ยนไปเกือบ 100% ใช้มือถือ เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น คนบริจาคเปลี่ยนรูปแบบไปการทำบุญช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเปลี่ยนไปเยอะมาก ยอมรับว่าตนเองปรับตัว ไม่ทัน แต่ก็ใช้หลักสติและสัมปชัญญะ แม้กระทั่งการสอนธรรมะคนก็จะไปฟังอีกรูปแบบหนึ่งเป็นพุทธะพจน์ ซึ่งทำให้พระสงฆ์ มีบทบาทน้อยลง
แต่ด้วยที่ตนเองมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือมีวิสัยทัศน์ที่ว่าทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสร้างสรรค์วัดวาอารามให้รุ่งเรือง บำเพ็ญกิจสืบเนื่องกับชุมชน สงเคราะห์ผู้คนทุกชนชั้นวรรณะซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ และยังยังมีพันธกิจ 3 ข้อที่ยึดถือ คือ ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ต้องเป็นผู้เลิศแห่งการให้และการแบ่งปัน และต้องเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ เป็นหลักธรรมที่ยึดมั่นประจำตัวตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีหลักธรรม พรหมวิหารสี่ “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” พราะอยู่กับคน ไม่มีธรรมะข้อไหนที่จะไปกฎระเบียบข้อบังคับคนได้ดีกว่า เป็นเครื่องกำจัดขัดเกลาจิตใจมนุษย์ได้ดีที่สุดนั่นเอง
สำหรับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ท่ามกลางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปรอบด้าน ยุคนี้ถือเป็นยุค AI พร้อมยอมรับตนเองยังปรับตัวไม่ทัน และคาดว่าญาติโยมอีกมากที่ปรับตัวไม่ทันกับโลกหมุนเปลี่ยนเร็วมาก จึงขอให้ทุกคนมีสติสัมปชัญญะ ไม่ให้ใครมาหลอกลวงเราง่ายๆ ใช้สติแยกแยะให้ออกว่าสิ่งไหนเป็นข้อมูลจริงหรือข้อมูลปลอม หากใครมาบอกลงทุนนิดเดียวแล้วผลตอบแทน ขอให้คิดว่ามันไม่มีในโลก ขอฝากข้อคิดขอให้ทุกคนมีสติสัมปชัญญะไว้กับตัวตนนั่นเอง
พระอาจารย์พบโชค ยังกล่าวถึงการสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่วัด เปิดรักษาฟรีว่า ก่อนที่จะทำโรงพยาบาลมีคลินิกเล็กๆ คนไข้วันละ 30-50 คน แต่เห็นว่าประชาชนเดือดร้อน จึงได้ทำคลินิกและขยายมาเป็นโรงพยาบาล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ซึ่งได้ผลจริง โดยถือเป็นโรงพยาบาลครอบครัว เพื่อดูแลประชาชนแบบคัดกรองขั้นแรก การรักษามีครบทุกห้อง ยกเว้นห้องจ่ายเงิน ประชาชนใช้บริการวันละมากกว่า 300 คน หรือมากกว่า 10,000 คนต่อเดือน ถือว่าได้ช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ง่ายขึ้น และช่วยเหลือภาครัฐอีกด้วย
สำหรับหลักธรรมที่ทำให้มีอาสาสมัครมาช่วยเหลือโรงพยาบาล ใช้หลักที่ว่า “ยิ่งให้ยิ่งได้” เพราะทุกคนรู้ว่าเมื่อตายไปแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ ในเมื่อเอาอะไรไปไม่ได้ก็มีแต่ “ความดีและความชั่ว” หรือบุญ-บาป เท่านั้นที่เอาไปได้ เพราะฉะนั้นการทำบุญทำกุศล จิตใจโอบอ้อมอารี มีจริยาวัตรเป็นกิจที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเป็นมงคลอันสูงสุดและติดไปภพภูมิได้หลายภพชาติ จึงมีอาสาสมัครทั้งแพทย์ทั้งพยาบาลทั้งบุคลากรสาธารณสุขมีครบในโรงพยาบาล.-516-สำนักข่าวไทย