22 ตุลาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
- ค่า Ct ที่พบมากกว่าในผู้ฉีดวัคซีนโควิด 19 แสดงว่าไวรัสในกระแสเลือด (Viral Load) มีน้อยกว่าผู้ไม่ฉีดวัคซีน
- วัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ยังกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ หรือ Neutralizing antibodies ได้อีกด้วย
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลบิดเบือนประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด 19 เผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา โดย Natural News เว็บไซต์ข่าวที่มีแนวคิดต่อต้านวัคซีน อ้างว่าหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ยอมรับถึงความล้มเหลวในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้าจากการฉีดวัคซีน เมื่อพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 โดส กลับมีเชื้อไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
ข้อกล่าวอ้างของ Natural News มาจากผลวิจัยในรัฐแมสซาชูเซตส์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Washington Post เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2021 ก่อนจะนำมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ CDC ในเวลาต่อมา
ผลวิจัยพบว่า ในรัฐแมสซาชูเซตส์ที่มีอัตราการวัคซีนโควิด 19 สูงถึง 69% แต่กลับพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 โดสแล้วในเดือนกรกฎาคมถึง 74%
นอกจากนี้ ผลตรวจ PCR ของผู้ป่วยที่รับวัคซีนครบ 2 โดสและผู้ที่ยังไม่รับวัคซีน พบว่าปริมาณไวรัสในกระแสเลือด (Viral Load) แทบจะไม่แตกต่างกัน โดยค่า Ct value ของผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสอยู่ที่ 22.77 ส่วนผู้ป่วยที่ยังไม่ฉีดวัคซีนอยู่ที่ 21.54
แต่การอ้างว่าผู้รับวัคซีนครบ 2 โดสมีเชื้อไวรัสมากกว่า เพราะมีค่า Ct value สูงกว่าเป็นการกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่า Ct (Cycle threshold) คือจำนวนรอบในการหาเชื้อไวรัส จำนวนรอบยิ่งน้อยแปลว่าเชื้อยิ่งมาก ดังนั้นค่า Ct value ของผู้ติดเชื้อที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสที่ 22.77 จึงมีเชื้อไวรัสน้อยกว่าผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ฉีดวัคซีนที่มีค่า Ct value ที่ 21.54
แม้ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันไวรัสเดลต้าจะลดลงอย่างมาก แต่ CDC ยังแนะนำให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน
วัคซีนโควิด 19 ช่วยกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ หรือ Neutralizing antibodies ที่จะป้องกันการติดเชื้อในเซลล์ ลดโอกาสการแพร่เชื้อหรือป่วยหนักจากโควิด 19 ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันการตรวจพบ Neutralizing antibodies ต่อเชื้อไวรัสเดลต้า ในกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA
ผลวิจัยด้านประสิทธิผลของวัคซีนต่อไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์ โดยวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2021 พบว่าการฉีดวัคซีน Pfizer และวัคซีน AstraZeneca เพียงเข็มเดียว จะมีประสิทธิผลป้องกันไวรัสอัลฟาที่ 48.7% และป้องกันไวรัสเดลต้าแค่เพียง 30.7%
แต่เมื่อฉีดครบ 2 โดส วัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิผลป้องกันไวรัสอัลฟาที่ 74.5% และป้องกันไวรัสเดลต้าได้ 67.0% ส่วนวัคซีน Pfizer เมื่อฉีดครบ 2 โดส จะมีประสิทธิผลป้องกันไวรัสอัลฟาที่ 93.7% และป้องกันไวรัสเดลต้าได้ 88.0%
ไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้ากำลังแพร่ระบาดในสหรัฐฯอย่างหนัก ข้อมูลจากสมาคมจุลชีววิทยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (ASM) ยืนยันว่าไวรัสเดลต้าแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าไวรัสอัลฟ่า 40% ถึง 60% และทำให้ผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า
ข้อมูลของ CDC ระบุว่า ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อเดลต้าแค่ 1.3% แต่ในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม มีผู้ติดเชื้อเดลต้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ 92%
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter