5 ตุลาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Politifact (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
- CDC ยืนยันว่าโปรตีนหนามจากวัคซีนโควิด 19 ที่ใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
- พิสูจน์ไม่ได้ว่าวัคซีน Novavax จะก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเหมือนวัคซีน mRNA เพราะใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ผ่านทาง Twitter ของ เจน รูบี ผู้อ้างตัวเป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านสุขภาพที่กล่าวหาว่าวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท Novavax เป็นอันตราย เนื่องจากวัคซีนใช้เทคโนโลยี Protein subunit ในการผลิต จึงเหมือนกับการฉีดโปรตีนหนามจากไวรัสโควิด 19 จำนวนนับล้านเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเธอทำนายว่าจะมีผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอีกนับไม่ถ้วนจากวัคซีนชนิดนี้
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ยืนยันว่า โปรตีนหนามจากวัคซีนโควิด 19 ทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย และไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
วัคซีนโควิด 19 ของ Novavax ใช้หน่วยย่อยของโปรตีน (Protein subunit) เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีประสิทธิผลป้องกันการป่วยจากไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ดังเดิมหลังฉีดครบ 2 โดสที่ 96% และป้องกันการป่วยจากสายพันธุ์อัลฟาที่ 86% สามารถป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากทั้ง 2 สายพันธุ์ถึง 100% คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากทางการสหรัฐอเมริกาในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 และจะมีกำลังผลิตที่ 100 ล้านโดสต่อเดือน
โฆษกของ Novavax ชี้แจงว่า โปรตีนหนามจากไวรัสโควิด 19 ซึ่งเป็นโปรตีนที่ปลอดภัย ไม่มีการแบ่งตัวหรือก่อให้เกิดโรคเมื่อเข้าสู่ร่างกาย มีหน้าที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อในอนาคต ผลข้างเคียงที่พบได้แก่ อาการเจ็บบริเวณที่ฉีดยา, อาการอ่อนเพลีย, ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ
ดร.พอล ออฟฟิท สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวัคซีนขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) อธิบายว่า การใช้หน่วยย่อยของโปรตีนมากระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นวิธีการที่ปลอดภัย เป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ผลิตวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี, วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยี่ห้อ Flublok
ส่วนข้ออ้างที่กล่าวว่าวัคซีน Novavax จะทำให้ผู้รับเสี่ยงต่ออาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นการเชื่อมโยงถึงผลข้างเคียงที่พบในวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ที่ทำให้ผู้รับวัคซีนอายุน้อยจำนวนหนึ่งมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ Novavax ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างในการผลิต จึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงเหมือนกันหรือไม่
มีข่าวปลอมที่อ้างถึงอันตรายของโปรตีนหนามจากไวรัสโควิด 19 เผยแพร่บ่อยครั้ง ทั้งการเป็นพิษต่อเซลล์ (Cytotoxic), ส่งผลกระทบต่อหัวใจ และทำลายระบบประสาทของสมอง ซึ่งเป็นข้อกล่าวอ้างที่ได้รับการหักล้างว่าไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น
เจน รูบี ผู้อ้างตัวเป็น “นักเศรษฐศาสตร์ด้านสุขภาพ” และ “ผู้เชี่ยวชาญการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมใหม่” ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านจิตวิทยา เคยทำงานด้านเภสัชกรรมและงานด้านพยาบาล แต่เธอไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ (Medical Doctor) และมีประวัติเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.politifact.com/factchecks/2021/jun/17/facebook-posts/no-sign-spike-proteins-covid-19-vaccines-including/
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter