22 กันยายน 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Factcheck.org (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
- เป็นการบิดเบือนผลวิจัยให้เชื่อว่าวัคซีนโควิด 19 ป้องกันไวรัสไม่ได้ เนื่องจากผู้ตายฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียวจึงมีโอกาสติดเชื้อสูง
- มีอวัยวะเพียง 7 แห่งที่ตรวจพบเชื้อโควิด 19 และไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิตอีกด้วย
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทาง Facebook ในสหรัฐอเมริกาโดย ฮัล เทอร์เนอร์ นักจัดรายการวิทยุแนวคิดอนุรักษ์นิยม ได้อ้างว่าผลการชันสูตรศพผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 พบรหัสพันธุกรรม RNA ของไวรัสโควิด 19 ตามอวัยวะทุกส่วนของผู้ตาย แสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด 19 ไม่ได้ หรือทำให้การแพร่เชื้อรวดเร็วยิ่งขึ้น จนเป็นข้อความที่ถูกแชร์ไปแล้วกว่า 8,000 ครั้ง
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
คำกล่าวอ้างดังกล่าว นำมาจากงานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการชันสูตรศพผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ผู้เสียชีวิตเป็นชายวัย 86 ปีที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา โดยเสียชีวิตใน 4 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มแรกของบริษัท Pfizer/BioNTech เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม
หลังจากฉีดวัคซีนไปได้ 2 สัปดาห์ ชายผู้นี้ยังไม่แสดงอาการใดๆ แต่ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลังเกิดอาการท้องเสียรุนแรงในวันที่ 18 หลังจากฉีดวัคซีน เมื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 7 วัน เขาก็ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด 19 โดยเชื่อว่าติดมาจากคนไข้ที่อยู่ในห้องพยาบาลเดียวกัน หลังจากติดเชื้อได้หนึ่งวันเขาก็เสียชีวิต
แม้ผลชันสูตรจะพบไวรัสโควิด 19 แพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของผู้ตาย แต่ผู้วิจัยยืนยันว่าผู้ตายไม่แสดงอาการป่วยของโรคโควิด 19 และสรุปว่าที่มาของอาการท้องเสียรุนแรงมาจากอาการเลือดไปเลี้ยงลำไส้ใหญ่ไม่เพียงพอ (ischemic colitis) และสาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียและภาวะไตล้มเหลว
โดยผลวิจัยสรุปว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มเดียวสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ แต่ไม่มากพอที่จะยับยั้งการติดเชื้อได้
อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยถูกนำไปบิดเบือนโดยข้อความของ ฮัล เทอร์เนอร์ ที่อ้างว่าชายคนดังกล่าวเสียชีวิตเพราะการฉีดวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากผลชันสูตรพบเชื้อไวรัสในอวัยวะทุกส่วนของผู้ตาย แสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ หรือทำให้การแพร่เชื้อในร่างกายรวดเร็วยิ่งกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และอ้างว่าชายผู้นี้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคลำไส้อักเสบจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังจากฉีดวัคซีนโควิด 19
ดร.ทอร์สเทน แฮนเซน จากศูนย์พยาธิวิทยา มหาวิทยาลัย Bielefeld University ประเทศเยอรมนี เจ้าของงานวิจัยชิ้นนี้ออกมายืนยันว่า ข้อกล่าวอ้างของ ฮัล เทอร์เนอร์ คือการบิดเบือนงานวิจัย
ข้อแรก ผู้เสียชีวิตไม่ได้รักษาตัวจากโรคลำไส้อักเสบเพราะลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีนโควิด 19 แต่เป็นเพราะอาการเลือดไปเลี้ยงลำไส้ใหญ่ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นอาการที่ผู้เสียชีวิตเคยเป็นมาก่อนเมื่อ 15 ปีที่แล้ว การส่องกล้องตรวจไม่พบ RNA ของไวรัสที่ลำไส้ใหญ่ จึงยืนยันได้ว่าอาการเลือดไปเลี้ยงลำไส้ใหญ่ไม่เพียงพอคือสาเหตุของการอาการท้องเสียรุนแรง ไม่ใช่สาเหตุจากการฉีดวัคซีน
ผู้วิจัยชี้ว่า ฮัล เทอร์เนอร์ บิดเบือนผลวิจัย 3 ข้อ
1.เนื่องจากผู้เสียชีวิตฉีดวัคซีนโควิด 19 เพียงโดสเดียว การติดเชื้อโควิด 19 หลังจากรับวัคซีนจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นหลังจากรับวัคซีนโดสที่ 2 ไปแล้วเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
2.การอ้างว่าพบไวรัสโควิด 19 ในอวัยวะทุกส่วนของผู้เสียชีวิตเป็นการกล่าวเกินจริง เพราะทีมวิจัยตรวจสอบอวัยวะของผู้เสียชีวิต 9 แห่ง และพบ RNA ของโควิด 19 ในอวัยวะเพียง 7 แห่งเท่านั้น
3.การวิจัยกับผู้ป่วยเพียงรายเดียว ไม่อาจสะท้อนประสิทธิผลโดยรวมของวัคซีนโควิด 19 ได้
ดร.ทอร์สเทน แฮนเซน ย้ำว่าจากการตรวจสอบอวัยวะของผู้เสียชีวิต ไม่พบการแสดงอาการข้างเคียงจากวัคซีนโควิด 19 แม้ผู้เสียชีวิตจะติดเชื้อโควิด 19 แต่โควิด 19 ไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิต และทีมวิจัยยังคงมั่นใจว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน สามารถป้องกันการป่วยจากโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.factcheck.org/2021/06/scicheck-post-misrepresents-details-of-postmortem-study-of-vaccinated-sars-cov-2-patient/
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter