กรุงเทพฯ 26 มี.ค.-จับตาโชห่วยไทย จะรอดได้อย่างไรในยุคการค้าออนไลน์มาแรง ขณะที่ภาครัฐพยายามหามาตรการช่วยเหลือเต็มที่
เชื่อว่าทุกคนคงเคยซื้อของในร้านค้าที่เรียกกันว่า “โชห่วย” มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่สถานการณ์ ซึ่งร้านโชห่วยอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้จะมีร้านค้าปลีกสมัยใหม่เข้ามามากมายที่ดึงดูดลูกค้าและมีสินค้าที่ครบครันกว่า รวมทั้งการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ที่เติบโตมาก
ปัจจุบันจากตัวเลขของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ระบุว่า ร้านโชห่วยมีจำนวน 395,006 ราย กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ขณะที่มีข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ร้านค้าปลีกที่มีการจดทะเบียนในรูปนิติบุคคลทั่วประเทศ ประมาณ 64,000 ราย อย่างไรก็ตาม มีผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร้านโชห่วยก็ยอมรับว่า เจอกับปัญหาคล้ายกัน คือ มีคู่แข่งใหม่ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็กและใหญ่ ค้าขายออนไลน์ และโมเดิร์นเทรด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ขาดความรู้ด้านการตลาด บัญชี ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่รายได้ลดลง
โดยร้านโชห่วยกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ 1,246 ราย พบว่าเกือบ 86% ทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และ 14% รูปแบบนิติบุคคล โดย 90% เป็นเจ้าของคนเดียว มีรายได้เฉลี่ย กว่า 51,000 บาท/เดือน และต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 4 คน ขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 จะใช้บ้านทำเป็นร้าน และ 28% ตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัด 61% จะขายสินค้าจิปาถะ ที่ซื้อจากห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าส่งขนาดใหญ่ในตัวเมือง
นอกจากนี้ยังพบว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ร้านโชห่วยเกือบ 25% ไม่มีการปรับตัวใด ๆ เลย เพราะคิดว่า ไม่จำเป็นและมีทุนจำกัด และเกือบ 40% ปรับตัวน้อย เพราะบอกว่ามีลูกค้าเก่าอยู่แล้วกับไม่มีทุนจะพัฒนามีเพียง 13% ปรับตัว
ห่วง “โชห่วยไทย” อย่างมากเพื่อจะยกระดับธุรกิจ ปรับเปลี่ยนร้านให้ทันสมัย สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า เช่น ปรับปรุงร้านใหม่ เพิ่มโปรโมชั่นหรือบริการเสริมต่างๆ มีการระบุราคาที่ชัดเจน และมีสินค้าหลากหลาย ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเสมอ นอกจากนี้ 23.97% มีการค้าขายออนไลน์เสริม เพราะเห็นถึงพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป
ด้านสถานภาพธุรกิจร้านโชห่วยปัจจุบัน ส่วนใหญ่บอกว่ายอดขายเท่าเดิม และคิดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้ายังเท่าเดิม โดย 53% มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยต่อราย 462,000 บาท ซึ่งภายใน 1 ปีนี้ เกือบ 48% บอกว่ามีความต้องการสินเชื่อ และแทบทั้งหมดต้องการสินเชื่อในระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ วงเงินเฉลี่ยที่ต้องการ คือ 182,500 บาท
ขณะที่ภาครัฐเองก็มีโครงการปรับปรุงร้านโชห่วยเพื่อให้แข่งขันได้ เช่น โครงการปรับภาพลักษณ์ร้านโชห่วยให้มีการจัดร้านรูปแบบ “5ส” คือ สวย –สว่าง –สะอาด–สะดวก –สบาย เพราะเชื่อว่าร้านโชห่วยมีความได้เปรียบร้านค้าใหญ่ๆ ในเรื่องการแบ่งขาย ซึ่งหากทำให้สามารถเลือกซื้อได้สะดวก ดูสะอาด ก็จะช่วยดึงดูดลูกค้าได้และโครงการโชห่วยออนไลน์ โดยพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ในรูปแพลตฟอร์มในการสั่งซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยไปยังผู้ผลิตสินค้าโดยตรง อย่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง สยามแม็คโคร เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารกรุงไทย สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย พัฒนาศักยภาพร้านโชห่วยเริ่มตั้งแต่ปรับทัศนคติในการทำธุรกิจแบบสมัยใหม่ ให้ความรู้บริหารจัดการธุรกิจ สนับสนุนด้านทรัพยากรและแหล่งเงินทุน
ส่วนเอสเอ็มอีแบงก์ ก็มีโครงการ “เติมทักษะ” คือให้ความรู้ เช่น ด้านบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่ ระบบบัญชีและขยายตลาดออนไลน์ ตามด้วยการ “เติมทุน” ผ่านโครงการ “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” สนับสนุนร้านโชห่วย ค้าปลีกค้าส่ง รวมถึงธุรกิจเกษตรแปรรูปอาชีพอิสระ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ยกระดับธุรกิจให้สะดวกทันสมัย โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี บุคคลธรรมดา 3 ปีแรก 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก 3 ปีแรก 0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี นอกจากนั้น “เติมคุณภาพชีวิต” สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยและครอบครัวเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ สร้างความมั่นคงในชีวิต นำไปสู่สังคมอยู่ดีมีความสุข.-สำนักข่าวไทย