29 มิ.ย. – “เด็กไทยสุขภาพดี สมวัย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรมการจัดการอาหาร” กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
หนึ่งใน “ทุนหมุนเวียน” ภายใต้การกำกับดูแลของระบบการบริหารทุนหมุนเวียน คือ “กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา” ซึ่งมีเป้าหมาย เด็กไทยสุขภาพดี สมวัย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรมการจัดการอาหาร
อาหารเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ ก็ควรได้รับอาหารตามหลักโภชนาการ เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจที่ดี โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียน เพื่อให้พวกเขาเจริญเติบโต มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ จดจำ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆ
สำหรับครอบครัวที่พอมีกำลัง เรื่องโภชนาการที่ดีของเด็กในวัยเรียน คงไม่ใช่ปัญหา แล้วเด็กกลุ่มไหนล่ะ ที่มีความเสี่ยงเรื่องนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในมุมหนึ่งมีเด็กไทยอีกหลายคนกำลังประสบปัญหาขาดโภชนาการที่ดี แม้ว่าจะได้รับอาหารครบทั้ง 3 มื้อ แต่สารอาหารที่ได้กลับไม่เพียงพอ เมื่อคุณค่าทางโภชนาการต่ำก็ย่อมส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้
ในสังคมไทยมีทั้งคนรวย คนที่มีฐานะปานกลาง และคนยากจน เป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ครอบครัวยากจน หรือกลุ่มเปราะบางที่รายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย ทางเลือกการกินก็คงมีไม่มากและคงหนีไม่พ้นคำว่า “กินตามมีตามเกิด” มีอะไรก็กินอย่างนั้น ยิ่งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม ทำให้หลายครอบครัวประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารและความอดอยากยิ่งขึ้นไปอีก เรื่องหลักที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วนคือของใช้ที่จำเป็น อาหาร น้ำดื่ม และค่าเดินทาง
เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ทุกโรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติ โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนจึงได้กลับมาทำหน้าที่ตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้เด็กในวัยเรียนได้รับอาหารดีมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงอาหารกลางวัน 1 มื้อ แต่หากเป็นมื้อที่มีคุณภาพ ก็จะช่วยให้เด็กในวัยเรียนได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ที่จะใช้ในการเรียน พัฒนาสมอง พัฒนาร่างกาย พัฒนาสภาพจิตใจ รวมถึงช่วยให้มีแรงทำกิจกรรมในช่วงครึ่งวันบ่าย
“ความเป็นมาของกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา”
โครงการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนในประเทศไทย มีมาอย่างยาวนาน เพราะการส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับเด็กไทย เพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์ตามวัยถือเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาลที่ต้องให้ความสำคัญ และส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เพื่อลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็ก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาด้านร่างกายและสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในวัยเรียนระดับประถมศึกษา ดังนั้นรัฐบาล จึงกำหนดให้มีการจัดโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นตั้งแต่ปี 2495 เพื่อมุ่งแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก โดยพบว่านักเรียนประถมศึกษาจำนวนมากขาดแคลนอาหารกลางวัน หรือมีอาหารกลางวันแต่ปริมาณไม่เพียงพอ หรืออาหารมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ ทำให้ภาวะการเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงศึกษาธิการได้ทดลองจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในสังกัด ซึ่งพบว่าโรงเรียนขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ทำให้ไม่สามารถจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนขาดแคลนได้อย่างทั่วถึง
ในปี พ.ศ.2530 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการอาหารกลางวัน จึงกำหนดนโยบาย ให้โรงเรียนดำเนินโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียนก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ภายใต้คำขวัญ 60 พรรษามหาราชา เด็กประถมศึกษาไม่หิวโหย
ต่อมาในช่วงปลายปีงบประมาณ 2534 รัฐบาลเร่งรัดช่วยเหลือเด็กในระดับประถมศึกษาที่มีภาวะทุพโภชนาการ และขาดแคลนอาหารกลางวัน กำหนดให้มีกฎหมาย พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายสำหรับการสนับสนุนและช่วยเหลือภาวะโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา และการประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็ก
ในปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการแต่ลำพังได้ ส่งผลกระทบต่อนักเรียนขาดแคลนอีกจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 ให้ถือว่าการส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารกลางวันอิ่มทุกวัน เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเห็นชอบให้มีความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารอิ่มทุกวัน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการ
ปีงบประมาณ 2544 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ไปให้กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
ในปี พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับอาหารกลางวันนักเรียนระดับประถมศึกษาเป็นวันละ 10 บาทต่อคน ในปี 2552 ให้เพิ่มเป็นวันละ 13 บาทต่อคน ปี พ.ศ. 2556 ได้ปรับเพิ่มเป็นวันละ 20 บาทต่อคน และในปี พ.ศ.2564 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการของการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเพิ่มอีกร้อยละ 5 เป็นวันละ 21 บาทต่อคน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้กับโรงเรียน เพื่อดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาให้แก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
พันธกิจกองทุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
1.ส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษามีภาวะโภชนาการดี สูงดี สมส่วน
2.ส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษามีความรู้ด้านโภชนาการและอาหารที่ปลอดภัย
3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนอย่างเป็นระบบตามหลักธรรมาภิบาล
4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ระบบสารสนเทศ สื่อสารประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ พัฒนาบุคลากร สนับสนุนการนิเทศ กำกับติดตามและประเมินผล
5.ประสานเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยนักเรียน จากหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชนและเครือข่าย
กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ได้นำเงินดอกผลไปใช้ในการบริหารงานโดยผ่านคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา และใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อช่วยให้นักเรียนระดับประถมศึกษาทุกคนมีอาหารกลางวันที่มีคุณภาพรับประทานทุกวัน ครบ 200 วัน ในหนึ่งปีการศึกษา จนสามารถลดปัญหาทุพโภชนาการในนักเรียนได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากกองทุนฯ จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาร่างกายของนักเรียนให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และมีน้ำหนักส่วนสูงเป็นไปตามเกณฑ์แล้ว ยังช่วยปลูกฝังนิสัยการกินที่ถูกต้องให้กับนักเรียน เพื่อให้คำนึงถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้น
ความสำเร็จของ “กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา”
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ได้ปฏิบัติภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา และเสริมสร้างสุขอนามัยแก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากนักเรียนในโรงเรียนที่กองทุนฯ ให้การสนับสนุนมีภาวะโภชนาการด้านต่างๆ ลดลง ได้แก่
1.จำนวนนักเรียนที่มีน้ำหนักต่อส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ หรือ ภาวะผอม ลดลง
2.นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ออายุต่ำกว่าเกณฑ์ หรือ ภาวะเตี้ย ลดลง
3.นักเรียนที่มีน้ำหนักตัวต่อส่วนสูงสูงกว่าเกณฑ์ หรือ ภาวะอ้วน ลดลง
และนี่คือผลงานส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลการบริหาร “ทุนหมุนเวียน” ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนา ส่งเสริม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม แก่เด็กตั้งแต่วัยอนุบาลไปจนถึงวัยประถมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งการพัฒนาด้านต่างๆ ของร่างกาย การส่งเสริมให้เด็กได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ก็เท่ากับได้สร้างชีวิตที่สมบูรณ์ที่จะเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพในสังคมต่อไป ดังนั้น โภชนาการที่ดี คือรากฐานของการเจริญเติบโตของผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติ.