24 มิ.ย. – หนึ่งใน “ทุนหมุนเวียน” ภายใต้การกำกับดูแลของระบบการบริหารทุนหมุนเวียนกลุ่มประเภทเพื่อการบริการ มีภารกิจ “พัฒนาโครงข่าย เชื่อมโยงระบบขนส่งสู่ภูมิภาค สร้างความประทับใจ สะดวก ปลอดภัย ด้วยนวัตกรรม” คือ “เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง”
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทย เห็นได้จากภาพความหนาตาของนักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก ภูเขา หรือ ทะเล
เอ่ยถึงทะเลแล้ว ก็อยากจะไปนั่งชิลริมทะเลพัทยา และทานอาหารทะเลสดๆ จากหมู่บ้านชาวประมงบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ขึ้นมาทันที
จะช้าอยู่ทำไม ไปกันเลยค่ะ จากกรุงเทพฯ ถึงพัทยา และเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านชาวประมงบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ใช้เวลาไม่นานค่ะ เพราะใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ หรือ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (กรุงเทพ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด) ขับเรื่อยๆ ประมาณ 1.30 ชั่วโมง ก็ถึงพัทยาแล้ว และหากจะเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านชาวประมงบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะมีมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายสาย 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด นั่นเองค่ะ
มอเตอร์เวย์ หรือ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 เป็นทางสายหลักที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่และการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออก (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง) ซึ่งเมื่อปี 2563 กรมทางหลวงได้เปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายสาย 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ให้เป็นเส้นทางคมนาคมสายใหม่ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาเดินทาง เชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในทุกระบบ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง
นายภัทรเทพ ศิลปาจารย์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เล่าว่า ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อเส้นทางสายชลบุรี – พัทยา บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน มุ่งไปทางทิศใต้ผ่าน อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปสิ้นสุดที่บริเวณบรรจบทางหลวงหมายเลข 3 เทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ระยะทางรวม 32 กม. ตลอดเส้นทางสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุดถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากทางแยกต่างระดับมาบประชัน ถึงสนามบินอู่ตะเภาได้ถึง 30 นาที โดยตลอดแนวเส้นทาง มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง 3 แห่ง ได้แก่ ด่านฯ ห้วยใหญ่ เชื่อมสู่บ้านอำเภอเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี, ด่านฯ เขาชีโอน เชื่อมสู่ทางหลวงหมายเลข 331 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และด่านฯ อู่ตะเภา เชื่อมสู่ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง และ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง
นอกจากเชื่อมโยงเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมแล้ว ยังเชื่อมโยงเขตพื้นที่ผลิตสินค้าการเกษตร สินค้าประมง เรียกว่าเป็นเส้นทางหลักที่มีความสำคัญต่อระบบคมนาคมขนส่งระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่จะสามารถเชื่อมโยงไปสู่ประตูการค้าระหว่างประเทศ
“เส้นทางสายนี้ ช่วยขยายโอกาสการค้าการลงทุน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเกษตร ผลไม้ต่างๆ จากภาคตะวันออกเข้ากรุงเทพฯ ได้รวดเร็วขึ้น ทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่พัทยา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ที่สำคัญยังช่วยประหยัดเวลาสำหรับเดินทางไปยังสนามบินอู่ตะเภา และในอนาคต ยังมีโครงการ มอเตอร์เวย์สาย 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะมีจุดสิ้นสุดโครงการที่แนวเขตทางเข้า-ออกสนามบินอู่ตะเภา ก็ยิ่งจะเพิ่มความสะดวก ย่นระยะเวลาให้แก่ผู้ที่จะเดินทางเข้า-ออกสนามบินอู่ตะเภาได้มากยิ่งขึ้น” นายภัทรเทพ กล่าว
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายช่วงพัทยา-มาบตาพุด เป็นหนึ่งในผลงานสำคัญของทุนหมุนเวียนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2549 เพื่อนำเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางไปใช้จ่ายบำรุงบูรณะสายทาง ที่มีการเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง ทั้งนี้ กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง เป็นผู้บริหารเงินทุนฯ อาศัยอำนาจตามประกาศกรมทางหลวง และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรม ทั้งการศึกษาพัฒนา และบริหารจัดการโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทั้งในส่วนของทางหลวงพิเศษและทางหลวงสัมปทาน บำรุงและรักษาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ดำเนินงานส่วนที่เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นต้น
แก้ปัญหาจราจรแออัดหน้าด่านเก็บเงินด้วย M-Flow
“ผู้ใช้รถยนต์ที่ขับขี่ผ่าน M-Flow ไม่ต้องหยุด หรือชะลอรถ สามารถใช้ความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม. ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 510,000 ราย จำนวนรถทั้งหมดรวม 619,000 คัน”
อีก 1 ผลงานเด่นของเงินทุนหมุนเวียนธรรมเนียมค่าผ่านทาง คือ การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ใช้ทางด้วย M-Flow หรือระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Free Flow) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนมอเตอร์เวย์ โดยการใช้เทคโนโลยี AI มาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแบบ Video Tolling แทนการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบระบบไม้กั้น ทําให้ผู้ใช้รถสามารถขับขี่ผ่านบริเวณด่านฯ โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ สามารถใช้ความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม. ระบายรถได้ 2,000 – 2,500 คัน/ชม./ช่องทาง รองรับการใช้งานกับรถยนต์ทุกประเภทที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือทางพิเศษ
โดยชำระค่าธรรมเนียมผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หลังการใช้บริการรวมไปถึงการชำระผ่านเว็บไซต์หรือโมบายแอปพลิเคชันของระบบ M-Flow ตลอดจนการชำระด้วยระบบ QR Code และการชำระผ่านระบบตัดเงินอัตโนมัติ
M-Flow เปิดให้ใช้บริการเต็มรูปแบบบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ประกอบไปด้วย ด่านฯ ทับช้าง 1 ด่านฯ ทับช้าง 2 ด่านฯ ธัญบุรี 1 และด่านฯ ธัญบุรี 2
“ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ผู้ใช้รถยนต์ ไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ ทำให้มีผู้ใช้บริการ M-Flow เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 510,000 ราย จำนวนรถทั้งหมดรวม 619,000 คัน ทั้งภาคธุรกิจขนส่ง ประชาชน และนักท่องเที่ยว ซึ่งทางกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองได้เตรียมขยายผลไปใช้กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางพิเศษในเส้นทางอื่นๆ ต่อไป” นายภัทรเทพ กล่าว
ล่าสุด M-Flow ได้รับ 2 รางวัล จากเวที LINE THAILAND AWARDS 2022 ได้แก่ รางวัล Best Display Advertising of the Year in Public Sector สุดยอดองค์กรภาครัฐด้านโฆษณายอดเยี่ยมแห่งปี และรางวัล Best Smart Channel in Public Sector
นอกจากนี้ยังมีงานติดตั้งระบบแสดงระยะเวลาในการเดินทางอัตโนมัติ (Dynamic Travel Time Information System) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้เส้นทางสามารถรับทราบข้อมูลได้อย่างทันท่วงที เพื่อเลือกเส้นทาง หลีกเลี่ยงสภาพจราจรที่ติดขัด
จะเห็นว่ากองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มุ่งมั่นพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มีความทันสมัย เพื่อให้สามารถสนับสนุนการบริหารจัดการ และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง อันจะก่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยแก่ผู้รับบริการ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 20 ปี ปี (2559-2579) ที่กล่าวว่า “ปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์”
และนี่คือผลงานส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลการบริหารทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพเป็นกลไกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมไทย เชื่อมโลก เพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้า การลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ ที่สำคัญของภูมิภาค.